แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แต่ปรากฏว่าองค์คณะของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ทำคำพิพากษาครั้งหลังมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3), 30 เนื่องจากคดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำพยานเข้าสืบจนเสร็จการพิจารณาแล้ว แต่องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาครั้งหลังเป็นคนละองค์คณะกันกับครั้งแรก ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ จึงเป็นการทำคำพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังว่า ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาใหม่ โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลของศาลชั้นต้นในขณะนั้น กับผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่า ผู้พิพากษาทั้งสองคนนั้นเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้มาแต่ต้น อันจะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาในครั้งหลังได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฉบับนี้จึงไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีคำสั่งระงับการทำไม้ป่าชายเลนก่อนอายุสัมปทานของโจทก์สิ้นสุด เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินชดเชยความเสียหายจำนวน 965,000 บาท และเงินประกันจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถึงจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในสำนวนยังปรากฏว่าองค์คณะของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ทำคำพิพากษาครั้งหลังฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2549 มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 (3), 30 เนื่องจากคดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำพยานเข้าสืบจนเสร็จการพิจารณาแล้ว แต่องค์คณะผู้พิพากษาที่ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาครั้งหลังเป็นคนละองค์คณะกันกับครั้งแรก ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ จึงเป็นการทำคำพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ส่วนที่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 14 กันยายน 2549 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟังว่า ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นจึงเลื่อนคดีไปนัดฟังคำพิพากษาใหม่ โดยมีนายกฤษฏิ์พงศ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลของศาลชั้นต้นในขณะนั้น กับนายภัทรภณผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาทั้งสองคนนั้นเป็นองค์คณะพิจารณาคดีนี้มาแต่ต้น อันจะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาในครั้งหลังได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2549 ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อนี้อีกด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นทำคำพิพากษาใหม่ตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้ว ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่