คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3506/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่ จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 761,187.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 212,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (10 มกราคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน จำนวน 312,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระต้นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มกราคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุโจทก์ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก – 2599 ยะลา ไปตามถนนติวานนท์มุ่งหน้าไปทางสี่แยกแคลาย เมื่อถึงสถานีบริการจำหน่ายน้ำมันเชลล์ก่อนถึงสี่แยกแคลายประมาณ 300 เมตร มีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 อ – 4789 กรุงเทพมหานครและจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ก – 1341 กรุงเทพมหานครสวนทางมาและรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 เสียหลักแล่นเข้าไปในช่องเดินรถที่สวนมาและชนรถยนต์ที่โจทก์ขับได้รับความเสียหาย ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกและคดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 13/2542 ของศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์หรือไม่เพียงใด ในข้อที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 อ – 4789 กรุงเทพมหานคร คุ้มครองตั้งแต่วันที่เท่าใดสิ้นสุดวันที่เท่าใดและรับผิดอย่างไรนั้น เห็นว่า ในเรื่องนี้ตามคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายมาแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 อ – 4789 กรุงเทพมหานคร มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยดังกล่าว จำเลยที่ 3 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแก่บุคคลที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดและเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชอบ ความเสียหายในคดีนี้เกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 อ – 4789 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้เพียงว่า ตามเงื่อนไขของสัญญากรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 อ – 4789 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 จะรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อบุคคลภายนอกตามกฎหมาย และไม่เกินจำนวนเงิน 250,000 บาท จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเกินจำนวนเงิน 250,000 บาท เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงเรื่องนี้ไว้แต่อย่างใด ดังนี้แม้โจทก์จะเป็นผู้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่าเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดดังกล่าวและภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นตกแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างดังกล่าวโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ถือว่าจำเลยที่ 3 รับข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างนั้นแล้วและไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (1) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นในอายุสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 3 อ – 4789 จากจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเหตุละเมิดดังกล่าว จำเลยที่ 3 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในความเสียหายร่วมกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดคนละหนึ่งส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อจำเลยที่ 1 รับผิดกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 3 ซึ่งเข้ารับผิดแทนจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดในค่าเสียหายกึ่งหนึ่งเช่นกันนั้น เห็นว่า แม้จะได้ความว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ล้วนมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าวทั้งหมด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือคนใดคนหนึ่งต้องรับผิดต่อโจทก์เต็มจำนวนความเสียหายโดยจะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดดังกล่าว เช่นกัน จำเลยที่ 3 จะแบ่งความรับผิดต่อโจทก์ดังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาไม่ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาในข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 3 รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินไม่เกิน 250,000 บาท รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้คิดเฉพาะค่าสินไหมทดแทนเท่านั้นที่ต้องไม่เกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมศาลเป็นเรื่องของคู่ความในคดีที่จะต้องรับผิดในการสู้ความหรือดำเนินคดีของคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นความรับผิดต่างหากจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ แต่จำกัดความรับผิดไว้สำหรับต้นเงินเพียง 250,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระต้นเงิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องนั้น จึงยังไม่ชัดเจนศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 312,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มกราคม 2540) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดจำนวน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 155

Share