คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1854/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากับมารดาของผู้ตายภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ ป.พ.พ. บรรพ 5 โดยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตลอดมาซึ่งทำให้ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่ผู้คัดค้านรับรองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ก็ตาม แต่ผลของบทบัญญัติดังกล่าวก็เพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิรับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายที่จะมีสิทธิคัดค้านการขอจัดการมรดกหรือร้องขอให้ศาลตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไชยาซึ่งถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ มีทรัพย์มรดกเป็นรถยนต์และเงินฝากในธนาคาร การจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบิดาของนายไชยาผู้ตายและเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้ตายตลอดมา ผู้ตายมีทรัพย์มรดกจำนวนมาก ผู้ร้องยังอ่อนเยาว์ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ ไม่อาจจัดการทรัพย์มรดกให้เป็นไปตามกฎหมายอันจะส่งผลเสียหายแก่ทายาทของผู้ตายได้ ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวสุวรรณาผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนายไชยาผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายไชยาผู้ตาย และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กชายอธิศและเด็กชายวริศผู้ตายเป็นบุตรของผู้คัดค้านที่เกิดกับนางลำไยมารดาของผู้ตายซึ่งถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว ผู้ตายถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2548 มีทรัพย์มรดกที่จะต้องจัดการ แต่ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า มีเหตุสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้คัดค้าน เนื่องจากผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากับนางลำใยมารดาของผู้ตายภายหลังที่มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แล้ว โดยผู้คัดค้านกับนางลำไยมิได้จดทะเบียนสมรสกัน ผู้คัดค้านมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าผู้คัดค้านอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายมาตั้งแต่เด็ก รับรองและแสดงต่อบุคคลทั่วไปว่าผู้ตายเป็นบุตร ส่งเสียให้การศึกษา ตลอดจนเป็นผู้สู่ขอออกเงินสินสอดทองหมั้นและจัดพิธีสมรสให้แก่ผู้ตายกับผู้ร้องนั้น หากเป็นความจริงก็ถือได้ว่าผู้ตายเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 แต่ผลของบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่ให้ถือว่าบุตรนั้นเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบิดาเท่านั้น หาได้มีผลทำให้บิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับมรดกของบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ด้วยไม่ ผู้คัดค้านจึงมิใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิคัดค้านหรือร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และปัญหาดังกล่าวมีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้อยู่แล้ว กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องวินิจฉัยคดีตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น หรืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือวินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไปดังที่ผู้คัดค้านฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share