คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดยเสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว
พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายโสภณเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 3 ศาลแพ่งมีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายวินัยผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดจากนายเนียมซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว โจทก์จึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายวินัยผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว โดยก่อนถึงแก่กรรมนายวินัยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินสองแปลง โฉนดเลขที่ 245103 และ 244400 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านสองชั้นเลขที่ 186/80 หมู่ที่ 3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินทั้งสองโฉนดที่อยู่ติดต่อกันและมีอาวุธปืนเดี่ยวลูกกรดซีแปดขนาด .22 เลขหมายประจำปืน 480087 กท 3750662 จำนวน 1 กระบอก ราคา 20,000 บาท และอาวุธปืนออโตเมติกรูเกอร์ขนาด 9 ม.ม. เลขหมายประจำปืน 303-73666 กท 3511100 จำนวน 1 กระบอก ราคา 20,000 บาท หลังจากที่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายวินัยแล้ว จำเลยได้จงใจทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการเข้าไปในบ้านเลขที่ 186/80 ดังกล่าว แล้วนำกุญแจไปใส่ที่ประตูบ้าน และรั้วบ้านไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ในบ้านและที่ดินดังกล่าวได้ซึ่งหากโจทก์นำบ้านและที่ดินดังกล่าวออกให้ผู้อื่นเช่า จะได้ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงกับอาวุธปืนทั้งสองกระบอก รวมทั้งสมุดสำเนาทะเบียนบ้านหลังดังกล่าวให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการจัดการรับโอนมรดกของนายวินัยได้ ก่อนฟ้องโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าวพร้อมคืนโฉนดที่ดินและอาวุธปืนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์แล้วจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วก็เพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ 186/80 หมู่ที่ 3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมชำระค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านและที่ดินดังกล่าว ส่งมอบการครอบครองคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย และให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 245103 และ 244400 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร สมุดสำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) บ้านเลขที่ 186/80 หมู่ที่ 3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ หากไม่คืนให้ยกเลิกเอกสารดังกล่าวโดยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการออกเอกสารดังกล่าวฉบับใหม่แทน กับให้จำเลยคืนอาวุธปืนทั้งสองกระบอกดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน หากไม่คืนให้จำเลยชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ยกเลิกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนทั้งสองกระบอกดังกล่าว
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 186/80 หมู่ที่ 3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร หากไม่ยอมออกให้ใช่ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกเสร็จสิ้น และส่งมอบการครอบครองแก่โจทก์ให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 245103 และ 244400 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และสมุดสำเนาทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) บ้านเลขที่ 186/80 หมู่ที่ 3 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และแจ้งย้ายชื่อนามสกุลออกไปจากบ้านเลขที่ดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์ไปแจ้งขอออกโฉนดที่ดินและสมุดสำเนาทะเบียนบ้านใหม่ได้ ให้จำเลยคืนอาวุธปืนลูกกรดซีแปดขนาด .22 และอาวุธปืนออโตเมติก รูเกอร์ ขนาด 9 ม.ม. อย่างละ 1 กระบอกพร้อมใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่คืนให้ใช้ราคารวม 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เห็นสมควรให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับที่ดินตามโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.6 นายวินัยได้รับการยกให้โดยเสน่หามาจากโจทก์เมื่อปี 2539 ส่วนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.7 นายวินัยได้รับโอนมรดกมาจากบิดาเมื่อปี 2533 แล้วโจทก์ได้ดำเนินการแบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.8 ให้แก่นายวินัยเมื่อปี 2538 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยนำสืบว่าได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายวินัยตั้งแต่ปี 2530 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและต่อมาได้จัดพิธีมงคลสมรสกันในปี 2535 ตามภาพถ่ายหมาย ล.1 แต่ก็ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันเช่นเดิม แล้วนายวินัยได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี 2541 นั้น แม้จะฟังได้ว่านายวินัยจะได้ที่ดินทั้งสองโฉนดมาในระหว่างอยู่กินกับจำเลยก็ตามแต่เมื่อนายวินัยกับจำเลยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส อันจะถือเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 เพราะทรัพย์สินที่ได้มาอันจะถือเป็นสินสมรสได้นั้นก็ต่อเมื่อการสมรสนั้นชอบด้วยกฎหมายคือมีการจดทะเบียนสมรสกัน ซึ่งหากไม่มีการจดทะเบียนสมรสกันแล้วทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างที่อยู่กินด้วยกันเช่นจำเลยกับนายวินัยคดีนี้ก็จะต้องพิจารณาว่าจำเลยกับนายวินัยได้ร่วมกันใช้เงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันมาซื้อที่ดินดังกล่าวหรือไม่ หากได้ความว่าเป็นการทำมาหาได้มาด้วยกันก็ถือว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมถ้าไม่ใช่ก็ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดได้ความยุติว่า นายวินัยได้รับมาจากการยกให้โดยเสน่หาจากโจทก์ซึ่งเป็นมารดา 1 แปลง และรับโอนมรดกมาจากบิดาอีก 1 แปลง จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยกับนายวินัยร่วมกันนำเงินที่ทำมาหาได้ระหว่างอยู่กินด้วยกันไปซื้อมา ที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดจึงไม่ใช่ทั้งสินสมรสหรือทรัพย์สินที่จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมเป็นเจ้าของด้วย ที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดจึงเป็นสินส่วนตัวของนายวินัยเพียงผู้เดียว และเมื่อจำเลยกับนายวินัยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแล้วจำเลยจึงไม่ใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่มีฐานะเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดของนายวินัย ที่ดินพิพาททั้งสองโฉนดจึงต้องตกเป็นมรดกแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายวินัยตามบัญชีเครือญาติ ส่วนบ้านพิพาทนั้น จำเลยนำสืบว่าได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายวินัยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมาตั้งแต่ปี 2530 และได้ร่วมกันนำเงินรายได้จากการจัดรายการ “ใต้ฟ้าเมืองไทย” ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 กับรายได้จากการเปิดร้านขายอาหาร “ร้านนายเขียว” มาปลูกสร้างบ้านพิพาทอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาททั้งสองโฉนด ส่วนโจทก์นำสืบว่าจำเลยกับนายวินัยอยู่กินฉันสามีภริยากันเมื่อปี 2535 ตามภาพถ่ายหมาย ล. 3 และบ้านพิพาทตามรายการทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.9 มีชื่อนายวินัยเป็นเจ้าบ้านโดยได้เข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2532 ส่วนจำเลยเพิ่งจะเข้ามามีชื่อเป็นเจ้าของและเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาท เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่นายวินัยถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 ตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย จ.3 จากรายการเกี่ยวกับบ้านพิพาทเอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าวแสดงว่าบ้านพิพาทน่าจะปลูกแล้วเสร็จก่อนปี 2532 ที่นายวินัยจะเข้าไปอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของ ปัญหาวินิจฉัยในส่วนนี้จึงมีว่าจำเลยกับนายวินัยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสกันมาตั้งแต่เมื่อไรและจำเลยได้ช่วยออกเงินปลูกสร้างบ้านพิพาทร่วมกับนายวินัยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงเหตุผลจำเป็นอันใดว่า เหตุใดเมื่อจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนายวินัยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตั้งแต่ปี 2530 ตามที่จำเลยกล่าวแล้ว จึงเพิ่งจะมาจัดงานพิธีมงคลสมรสกันในปี 2535 ตามภาพถ่ายหมาย ล.3 แล้วก็ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันเช่นเดิมจึงเป็นที่สงสัยประการหนึ่ง และนอกจากนี้จำเลยก็ไม่ได้นำสืบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือเช่นผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างของจำเลยกับนายวินัยในขณะนั้นหรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงมาเบิกความสนับสนุนให้ฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยกับนายวินัยได้อยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2530 และได้ร่วมกันทำมาหาได้นำเงินมาปลูกสร้างบ้านพิพาทแต่อย่างไรจำเลยคงยังมีแต่นายไพจิตรเพื่อนของนายวินัยมาเบิกความสนับสนุนจำเลยเพียงปากเดียวว่ารู้จักเป็นเพื่อนกับนายวินัยมาตั้งแต่ปี 2528 เคยไปเที่ยวดื่มสุราด้วยกันและรู้จักจำเลยตั้งแต่ปี 2528 เช่นกันโดยจำเลยเป็นน้องสาวของเพื่อน แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเพื่อนคือใคร ส่วนที่เบิกความว่าจำเลยกับนายวินัยมาอยู่กินด้วยกันตั้งแต่ปี 2530 ขณะนั้นนายวินัยมีอาชีพเป็นช่างภาพประจำสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 จำเลยกับนายวินัยได้ร่วมกันทำรายการโทรทัศน์ “ใต้ฟ้าเมืองไทย” จำนำรายได้จากการจัดรายการมาปลูกสร้างบ้านพิพาท โดยสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากร้านบุญเสริมพานิช เจ้าของร้านชื่อ “เฮียแสง” ตั้งอยู่ที่เชิงสะพานแสนแสบ เหตุที่พยานทราบก็เพราะพยานไปนั่งดื่มสุรากับนายวินัยที่บ้านพิพาทประจำทุกเย็น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำสืบนายแสงเจ้าของร้านบุญเสริมพานิชหรือนำหลักฐานใบสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างบ้านพิพาทมาแสดงต่อศาลเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างไร ดังนั้น คำเบิกความของจำเลยกับนายไพจิตรจึงเลื่อนลอยปราศจากเหตุผลและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุนให้รับฟังได้เช่นนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับนายวินัยนำเงินที่ทำมาหาได้มาปลูกสร้างบ้านพิพาทตั้งแต่มาอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2530 ตามที่จำเลยนำสืบ คงฟังได้ว่า จำเลยกับนายวินัยมาอยู่กินกันตั้งแต่ปี 2535 ตามภาพถ่ายงานมงคลสมรสของทั้งสองคนเอกสารหมาย ล.3 มากกว่า ดังนั้น เมื่อได้ความว่าบ้านพิพาทปลูกสร้างแล้วเสร็จและนายวินัยได้เข้าอยู่อาศัยเป็นเจ้าบ้านตั้งแต่ปี 2532 และจำเลยไม่มีส่วนร่วมออกเงินช่วยปลูกสร้าง จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในบ้านพิพาท และการที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าบ้านพิพาทภายหลังจากที่นายวินัยถึงแก่กรรมไปแล้วก็หาได้หมายความว่า จำเลยเป็นเจ้าของบ้านพิพาทไม่ ดังนั้น บ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนายวินัยและเป็นทรัพย์มรดกตกแก่โจทก์เช่นเดียวกัน สำหรับอาวุธปืน 2 กระบอก ซึ่งจำเลยฎีกาโต้แย้งว่า เป็นทรัพย์สินที่นายวินัยได้มาระหว่างอยู่กินกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบว่านายวินัยได้ใช้เงินส่วนตัวไปซื้อมาแล้ว กรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรสนั้น เห็นว่า ตามที่ได้วินิจฉัยมาโดยละเอียดเบื้องต้นแล้วว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 เรื่องสินสมรสนั้นใช้ได้เฉพาะกรณีที่มีการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย คือมีการจดทะเบียนสมรสกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติมาแต่แรกแล้วว่า จำเลยกับนายวินัยอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 1474 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้งมาปรับใช้ได้ อาวุธปืนทั้ง 2 กระบอกจึงไม่ใช่สินสมรสและเมื่อจำเลยไม่สามารถนำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมออกเงินให้นายวินัยซื้ออาวุธปืนทั้ง 2 กระบอกแล้ว จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในอาวุธปืนทั้ง 2 กระบอกดังกล่าวเช่นกัน ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าอาวุธปืนทั้ง 2 กระบอก เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของนายวินัยและเป็นทรัพย์มรดกตกแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทด้วยนั้นจึงชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยประเด็นต่อไปมีว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ที่จำเลยอ้างว่านายวินัยได้ทำพินัยกรรมยกบ้านพร้อมที่ดินและทรัพย์สินในบ้านทุกอย่างให้แก่จำเลยตกเป็นโมฆะหรือไม่ โดยจำเลยนำสืบว่า จำเลยลงลายมือชื่อในพินัยกรรมในฐานะเป็นผู้รับพินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อในฐานะเป็นพยานในพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ต้องห้ามที่จะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง อีกทั้งพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 เป็นพินัยกรรมแบบที่นายวินัยผู้ทำพินัยกรรมเขียนเองทั้งฉบับซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 ไม่ได้บัญญัติว่าต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมและจำเลยก็ไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมในขณะที่นายวินัยทำพินัยกรรมเหมือนอย่างพินัยกรรมแบบธรรมดา จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะพยานในพินัยกรรมตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคหนึ่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 จึงเป็นพินัยกรรมที่สมบรูณ์ตามกฎหมายนั้น เห็นว่าพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 นั้น มีหลักเกณฑ์สำคัญว่า ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความทั้งหมดด้วยลายมือของตนเองเพราะเป็นการทำพินัยกรรมเองโดยลำพัง ไม่มีผู้อื่นเกี่ยวข้อง จึงไม่ต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรม กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อของตนเองด้วยทั้งนี้เพราะแม้ผู้ทำพินัยกรรมได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว หากมีข้อโต้แย้งก็อาจพิสูจน์ลายมือเขียนหนังสือของผู้ทำพินัยกรรมได้ว่า ใช่ลายมือของผู้ทำพินัยกรรมหรือไม่ใช่ซึ่งต่างจากการใช้เครื่องพิมพ์ดีด ถึงแม้ผู้ทำพินัยกรรมจะเป็นคนพิมพ์ข้อความทั้งหมดในพินัยกรรมเองก็ตาม แต่เมื่อไม่มีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมหากมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นว่าผู้อื่นเป็นคนพิมพ์หรือพิมพ์ไม่ตรงตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมแล้วก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้พิมพ์ข้อความเองทั้งหมดได้ ฉะนั้นการทำพินัยกรรมแบบเขียนเองจึงใช้พิมพ์ดีดไม่ได้เลย ไม่ว่าจะพิมพ์ดีดทั้งหมดโดยผู้ทำพินัยกรรมเองหรือพิมพ์ดีดเฉพาะบางตอนหรือเฉพาะข้อความที่กรอกลงในช่องว่างก็ตาม ดังนั้น เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 นายวินัยผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้เขียนข้อความทั้งหมดด้วยลายมือเขียนของตนเอง แต่กลับใช้วิธีพิมพ์ดีดแทนนั้นจึงเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นผิดแบบขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1657 ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1705 อีกทั้งจะฟังว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาที่มีพยานรู้เห็นการทำพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 ก็ไม่ได้เพราะมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกันซึ่งพยานสองคนนั้นก็ต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเช่นกัน แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่านายวินัยลงชื่อทำพินัยกรรมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2533 แต่นางบุญช่วยโจทก์และนายโสภณผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานระบุลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2538 จึงเป็นการลงลายมือชื่อเป็นพยานในภายหลัง ไม่ใช่เป็นการลงลายมือชื่อในขณะที่นายวินัยทำพินัยกรรม เป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1656 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 อีกเช่นกัน ดังนั้น พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 จึงเป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยผิดแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นแบบเขียนเองหรือแบบธรรมดา ย่อมตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามมาตรา 1705 จำเลยจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ขึ้นต่อสู้ได้ และกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยลงลายมือชื่อในพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ในฐานะเป็นพยานหรือเป็นผู้รับพินัยกรรมอีกเพราะไม่มีผลทำให้พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ซึ่งตกเป็นโมฆะทั้งฉบับไปแล้วกลับมามีผลเป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในส่วนนี้ว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.2 ข้อความในพินัยกรรมใช้พิมพ์ดีดไม่ใช่ลายมือเขียนจึงไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับแต่เป็นพินัยกรรมแบบธรรมดาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 แต่เนื่องจากจำเลยลงลายมือชื่อในพินัยกรรมดังกล่าวในฐานะพยานด้วยคนหนึ่ง จำเลยจึงต้องห้ามมิให้เป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1653 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมในส่วนที่ยกทรัพย์ให้แก่จำเลยจึงตกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกของนายวินัยทั้งหมดจึงไม่ตกแก่จำเลย แต่ตกได้แก่ทายาทโดยธรรมคือโจทก์ โจทก์จึงฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนายวินัยคืนจากจำเลยได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลในส่วนนี้
ปัญหาวินิจฉัยประเด็นสุดท้ายว่า ค่าเสียหายเพียงใดจำเลยฎีกาโต้แย้งว่าไม่ทราบว่าศาลอุทธรณ์อาศัยอะไรเป็นตัวกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท และมีหลักฐานประกอบการอ้างอิงอะไรบ้างนั้น เห็นว่า ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบว่า ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ 50,000 บาท ส่วนจำเลยนำสืบว่าค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท นั้น เป็นเรื่องโจทก์และจำเลยต่างคาดคะเนเอาเอง แต่เมื่อพิจารณาลักษณะบ้านตามภาพถ่ายบ้านและที่ดินพิพาทแล้ว เห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เดือนละ 6,000 บาท ย่อมแสดงว่าศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายโดยพิจารณาจากภาพถ่ายบ้านและที่ดินพิพาทว่า สภาพบ้านและทำเลที่ตั้งเป็นตัวกำหนดค่าเสียหายให้ซึ่งเมื่อพิจารณาสภาพตามภาพถ่ายดังกล่าวแล้ว บ้านพิพาทเป็นบ้านเดี่ยวสองชั้น มีบริเวณบ้านกว้างพอสมควรและตั้งอยู่ในทำเลยแหล่งชุมชนไม่ใช่ที่เปลี่ยว ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์เดือนละ 6,000 บาท คิดเป็นรายวันตกเพียงวันละ 200 บาทนั้น จึงเหมาะสมแล้ว หาเป็นการกำหนดค่าเสียหายคลาดเคลื่อนเกินความจริงดังที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านพิพาท หากไม่ยอมออกให้ชดใช้ค่าเสียหายรายเดือน เดือนละ 6,000 บาท และให้จำเลยคืนทรัพย์สินต่างๆ ตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share