คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจาก น. มารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่า มิใช่เรื่องเป็นข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากมารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 วรรคสาม ลงโทษจำคุก 7 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า นางสาว ช. เป็นบุตรของนาง น. และนาย ท. เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2530 พักอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่บ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 2 ตำบลสิงห์ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี นางสาว ช. และจำเลยรู้จักกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 โดยจำเลยทำงานเป็นลูกจ้างของสหกรณ์การเกษตรบางระจัน เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 นางสาว ช. คลอดบุตรชาย คือ เด็กชาย อ. ได้มีการตรวจลายพิมพ์ดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างบิดากับบุตรปรากฏว่า จำเลยเป็นบิดาของเด็กชาย อ. คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากนาง น. มารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วยตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนางสาว ช. เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 นางสาว ช. ไปเฝ้าบ้านให้นาง ส. ผู้เป็นย่าที่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 2 ตำบลสิงห์ อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี เนื่องจาก นาง ส. ต้องเดินทางไปธุระที่กรุงเทพมหานคร บ้านของนาง ส. เปิดเป็นร้านขายของอยู่ใกล้กับสหกรณ์การเกษตรบางระจันที่ทำงานของจำเลย ต่อมาเวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยไปขอซื้อบุหรี่จากนางสาว ช. แล้วชักชวนออกไปธุระ นางสาว ช. ตกลงไปด้วย จำเลยขับรถกระบะมารับนางสาว ช. ไปที่ห้างสรรพสินค้าไชยแสง ซึ่งอยู่ที่อำเภอเมืองสิงห์บุรีต่อจากนั้นพาไปที่โรงแรมเอกบงกชซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสิงห์บุรีเช่นกันแล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเรานางสาว ช. แล้วจึงพานางสาว ช. ไปส่งที่บ้านของนาง ส. เมื่อเวลา 11 นาฬิกา หลังเกิดเหตุนางสาว ช. ไม่เคยพบจำเลยอีกและมิได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้อื่นฟังจนกระทั่งนาง น. สังเกตเห็นท้องนางสาว ช. โตจึงลูบคลำที่ท้องพบว่ามีเด็กดิ้นในท้อง นางสาว ช. จึงเริ่มเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นาง น. ฟัง นาง น. เบิกความว่าเมื่อประมาณวันที่ 30 สิงหาคม 2547 พยานสังเกตเห็นนางสาว ช. มีรูปร่างอ้วนขึ้นจึงได้สอบถามและเอามือลูบที่ท้อง รู้สึกว่ามีเด็กดิ้นอยู่ในท้อง นางสาว ช. จึงเล่าให้ฟังว่าท้องกับจำเลยโดยจำเลยพาไปร่วมประเวณีที่โรงแรม เห็นว่า ขณะเกิดเหตุนางสาว ช. มีอายุ 16 ปีเศษ เรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ถือว่ายังอ่อนวัย การที่นางสาว ช. ไปมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ไม่สมควรจะเล่าให้ผู้อื่นฟังโดยเฉพาะกับนาง น. และนาง ส. ผู้เป็นย่าซึ่งเป็นผู้ปกครองหากทราบเรื่องแล้วอาจดุ ด่า เฆี่ยนตีนางสาว ช. ได้ เมื่อนาง น. รู้ความจริงว่านางสาว ช. ตั้งครรภ์ นางสาว ช. จึงยอมเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้นาง น. ทราบ เชื่อว่าเรื่องที่นางสาว ช. เล่าว่าจำเลยชักชวนและพานางสาว ช. ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าไชยแสงในอำเภอเมืองสิงห์บุรีจนไปมีเพศสัมพันธ์กันที่โรงแรมเอกบงกชในวันเกิดเหตุ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเพราะเป็นระยะเวลากะทันหัน นางสาว ช. ไม่มีโอกาสคิดไตร่ตรองสร้างเรื่องโกหกมารดาแต่ที่นางสาว ช. เบิกความว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราในโรงแรมเอกบงกชนั้นได้ความจากคำเบิกความของนางสาว ช. ว่า เมื่อจำเลยขับรถออกจากห้างสรรพสินค้าไชยแสงแล้วจำเลยขับรถเข้าไปในโรงแรมม่านรูด จอดรถในช่องจอดหน้าห้องพักของโรงแรมซึ่งเป็นห้องชั้นเดียว เมื่อจำเลยจอดรถเสร็จมีผู้นำผ้าม่านมาปิดที่ท้ายรถ จำเลยบอกให้นางสาว ช. นั่งรออยู่ในรถ ส่วนจำเลยลงจากรถเดินออกไปข้างนอกสักครู่ก็กลับมาและบอกให้นางสาว ช. เข้าไปรอในห้องซึ่งติดอยู่กับที่จอดรถ สักครู่จำเลยก็เดินตามเข้ามาในห้องพร้อมถือขวดเป็ปซี่ 2 ขวด เมื่ออยู่ในห้องจำเลยได้ร่วมประเวณีกับนางสาว ช. โดยนางสาว ช. พยายามขัดขืนแต่สู้แรงจำเลยไม่ไหวนั้น เห็นว่า ขณะที่จำเลยขับรถพานางสาว ช. เข้าไปในโรงแรมเอกบงกชและจอดรถอยู่หน้าห้องพักโดยมีผู้นำผ้าม่านมาปิดที่ท้ายรถ นางสาว ช. โตพอที่จะสังเกตได้แล้วว่าการนำผ้าม่านมาปิดท้ายรถก็เพื่อไม่ให้ผู้อื่นพบเห็นรถจำเลยในโรงแรมดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำที่ผิดปกติไปจากการจอดรถทั่วไป นางสาว ช. ย่อมเข้าใจได้แล้วว่าโรงแรมแห่งนี้ไม่ใช่สถานที่ที่ตนสมควรเข้ามา และเมื่อจำเลยกลับมาที่รถบอกให้นางสาว ช. ไปรอในห้องพักหน้าที่จอดรถ นางสาว ช. ก็ยอมเข้าไปแต่โดยดีโดยจำเลยมิได้ใช้กำลังบังคับนางสาว ช. เข้าไปในห้องย่อมเห็นสภาพภายในห้องพักของโรงแรมแล้วว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่ตนจะอยู่รอจำเลยในห้องนั้นตามลำพังหรือไม่ และนางสาว ช. ก็รู้อยู่ว่าจำเลยกำลังจะเข้ามาในห้องพัก เมื่ออยู่กันตามลำพังนางสาว ช. ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยอาจจะกระทำการอันไม่สมควรทางเพศกับตนได้ นางสาว ช. มิได้ถูกจำเลยควบคุมตัวหรือขู่ว่าจะทำร้ายแต่อย่างไร จึงมีโอกาสที่จะหลบหนีออกจากโรงแรมหรือห้องพักหรือปฏิเสธที่จะเข้าไปรอจำเลยในห้องพักและขอให้จำเลยพากลับไปส่งบ้านได้แต่นางสาว ช. มิได้กระทำการดังกล่าว ที่นางสาว ช. เบิกความถึงพฤติการณ์ที่จำเลยข่มขืนกระทำชำเราว่านางสาว ช. ได้ดิ้นรนขัดขืนแล้วแต่สู้แรงของจำเลยไม่ได้นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางสาว ช. ว่า จำเลยเพียงแต่ใช้มือขวารัดมือทั้งสองข้างของนางสาว ช. ไว้เท่านั้นส่วนมือซ้ายถอดเสื้อผ้าของนาวสาว ช. และถอดกางเกงและกางเกงในของจำเลยออกโดยจำเลยไม่มีอาวุธหรือพูดขู่บังคับ การกระทำเพียงเท่านี้ของจำเลยเชื่อว่านางสาว ช.สามารถดิ้นรนขัดขืนจำเลยได้ พฤติการณ์ที่นางสาว ช. ไปเที่ยวกับจำเลยที่ห้างสรรพสินค้าไชยแสงในเขตอำเภอเมืองสิงห์บุรี ยอมเข้าไปในโรงแรมเอกบงกชกับจำเลยรอจำเลยในรถหน้าห้องพักภายในโรงแรมและเข้าไปรอจำเลยในห้องพักจนมีการร่วมประเวณีกับจำเลยนั้น เป็นไปด้วยความเต็มใจของนางสาว ช. เองทั้งสิ้น เมื่อนางสาว ช. กลับมาถึงบ้านย่อมไม่เล่าเรื่องที่ตนเองไปมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยที่โรงแรมเอกบงกชให้นาง น. ฟังทันทีโดยอาจกลัวนาง น. ซึ่งเป็นมารดาโกรธและอาจถูกเฆี่ยนตีได้จนกระทั่งนางสาว ช. ตั้งครรภ์และนาง น. รู้เรื่องการตั้งครรภ์นั้น นางสาว ช. ไม่อาจปกปิดเรื่องที่ตนไปมีเพศสัมพันธ์กับจำเลยได้อีกต่อไปจึงยอมเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างตนเองกับจำเลยให้นาง น. ฟัง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า วันเกิดเหตุไม่ใช่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 นั้นเพราะตามรายงานผลการตรวจชันสูตรระบุวันเกิดเหตุวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 เอกสารและคำเบิกความจึงแตกต่างกันในเรื่องวัน เวลากระทำผิดอันเป็นสาระสำคัญนั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่นาง ส. และนาง น. มาแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยต่อพนักงานสอบสวนและให้ถ้อยคำไว้ ตามบันทึกดังกล่าวระบุวันเกิดเหตุว่าเป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 วันที่พนักงานสอบสวนระบุว่าเกิดเหตุเป็นวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการลงวันที่ผิดพลาดของพนักงานสอบสวนเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ว่าวันเกิดเหตุคือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า ตามบันทึกการเข้าออกของโรมแรมเอกบงกชไม่ปรากฏรายการว่าจำเลยขับรถของจำเลยเข้าโรงแรมดังกล่าว เห็นว่า บันทึกการเข้าออกของลูกค้าโรงแรมเอกบงกชระหว่างวันที่ 4 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2547 นั้นบางรายการก็ไม่ได้จดหมายเลขทะเบียนรถที่เข้ามาใช้บริการจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าบันทึกตามเอกสารหมาย จ.8 บันทึกไว้ถูกต้องพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนการที่นาง ส. ชี้สถานที่เกิดเหตุเป็นบ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 2 ตำบลสิงห์ อำเภอบางรจัน ซึ่งเป็นบ้านของนาง น. มิใช่บ้านเลขที่ 81 ของนาง ส. นั้น เห็นว่า ข้อหาว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากบิดามารดาโดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจไปด้วย ซึ่งบ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 2 ดังกล่าวเป็นบ้านของนาง น. มารดานางสาว ช. และนางสาว ช. อยู่อาศัยด้วยจึงเป็นสถานที่เกิดเหตุเช่นกัน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2547 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยชักชวนและพานางสาว ช. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าไชยแสงในเขตอำเภอเมืองสิงห์บุรีแล้วพาไปที่โรงแรมเอกบงกช จำเลยกระทำชำเรานางสาว ช. โดยนางสาว ช. ยินยอม แต่นาง น. มารดานางสาว ช. มิได้ยินยอมให้จำเลยพานางสาว ช. ไปเพื่อการอนาจาร จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากนาง น. มารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่เห็นว่าการพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่า มิใช่เรื่องเป็นข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากมารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี

Share