คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าแต่ผู้เสียหายหลบหลีกได้ทันจึงไม่ถึงแก่ความตาย และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหาย คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยชกต่อยผู้เสียหายซึ่งจำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 391 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การที่จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วม กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและยังทะลุพลาดถูก อ. ด้วยนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาดซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายและมิได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาดจึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 81, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธปืน และปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายจเร ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทางความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 13 ปี 4 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 14 ปี 10 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 13 เดือน 15 วัน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับข้อหาพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ระหว่างที่นายจเร โจทก์ร่วม กับนายจรัญ ผู้เสียหายชกต่อยต่อสู้กับจำเลยและพวก มีคนร้ายใช้อาวุธปืนของกลางซึ่งไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับยิง 1 นัด กระสุนปืนถูกต้นแขนซ้ายของโจทก์ร่วมแล้วทะลุพลาดไปถูกหน้าอกและลำคอของนายเอกพจน์ น้องของจำเลย เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมและนายเอกพจน์ได้รับอันตรายสาหัส สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปีมานั้น เมื่อจำเลยฎีกาในความผิดฐานดังกล่าวว่าขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีอาวุธปืนและพกพาอาวุธปืน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 13 นาฬิกา โจทก์ร่วม ผู้เสียหาย นายองอาจ กับพวกเล่นสาดน้ำวันสงกรานต์ที่ตลาดปาดังเบซาร์ พวกของโจทก์ร่วมเกิดทะเลาะวิวาทกับกลุ่มวัยรุ่นอีกกลุ่มหนึ่ง ผู้เสียหายเข้าห้าม ต่อมาโจทก์ร่วมกับพวกแยกย้ายกันกลับบ้าน โจทก์ร่วมนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปได้ประมาณ 200 เมตร น้ำมันรถจักรยานยนต์หมด ผู้เสียหายกับโจทก์ร่วมเดินหาซื้อน้ำมันบริเวณถนนที่เกิดเหตุ ระหว่างนั้นจำเลยกับพวกขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์กันมา 2 คัน รวมประมาณ 6 ถึง 7 คน จำเลยกับพวกเข้าชกต่อยผู้เสียหาย โจทก์ร่วมจึงเข้าช่วยผู้เสียหาย เกิดการชุลมุนต่อสู้กันนานประมาณ 5 นาที โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายสู้พรางถอยพราง จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวแล้วยิงโจทก์ร่วมในระยะห่างประมาณ 1 เมตร กระสุนปืนถูกแขนซ้ายบริเวณใต้รักแร้ของโจทก์ร่วมแล้วทะลุพลาดไปถูกหน้าอกและลำคอของนายเอกพจน์ น้องของจำเลย ซึ่งอยู่ข้างหลังโจทก์ร่วม โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีร้อยตำรวจโทจรัญ รองสารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรตำบลปาดังเบซาร์ เป็นพยานเบิกความว่า หลังจากเกิดเหตุพยานกับพวกสืบทราบว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมชื่อนายเป็ด เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากที่ว่าการอำเภอสะเดาจึงทราบชื่อจริงว่าชื่อนายวิจิตร ซึ่งเป็นจำเลย พยานกับพวกสืบสวนติดตามจับกุมจำเลยมาตลอดแต่ยังจับกุมไม่ได้เพราะจำเลยหลบหนีออกจากพื้นที่ตามรายงานการสืบสวนเอกสารหมาย จ.10 นอกจากนี้ โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีสิบตำรวจเอกพินทุ ผู้จับกุมจำเลย เป็นพยานเบิกความว่า พยานกับพวกสืบทราบว่าจำเลยหลบหนีการจับกุมโดยไปทำงานอยู่ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดศุภสารกลการซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2545 พยานกับพวกจึงติดตามไปจับกุมจำเลยได้ที่ที่ทำงานและแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร พยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.14 พยานอ่านข้อความในบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟังก่อนจำเลยลงลายมือชื่อ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายย่อมมองเห็นเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งโจทก์ร่วมและผู้เสียหายต่างเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยกับพวกขับและนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วจำเลยกับพวกร่วมกันชกต่อยผู้เสียหาย โจทก์ร่วมเข้าช่วยผู้เสียหาย เกิดการชุลมุนต่อสู้กัน โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายสู้พรางถอยพราง ระหว่างนั้นจำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวแล้วยิงโจทก์ร่วม คำเบิกความของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายดังกล่าวสอดคล้องกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.6 ซึ่งผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 อันเป็นวันเกิดเหตุ และโจทก์ร่วมให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ร่วมออกจากโรงพยาบาล จึงทำให้คำเบิกความของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายมีน้ำหนักให้รับฟัง ประกอบกับตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายดังกล่าวยังปรากฏด้วยว่าเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2543 พนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายดูภาพถ่ายของจำเลย โจทก์ร่วมและผู้เสียหายยืนยันว่าบุคคลตามภาพถ่ายเป็นจำเลยที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ร่วมและผู้เสียหายจำจำเลยได้ไม่ผิดตัว ประกอบกับตามรายงานการสืบสวนหาตัวคนร้ายที่ร้อยตำรวจโทจรัญจัดทำตามเอกสารหมาย จ.10 ปรากฏว่ารายงานดังกล่าวตั้งแต่ฉบับแรกซึ่งลงวันที่ 13 เมษายน 2543 จนถึงฉบับสุดท้ายซึ่งลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2543 ได้ระบุชื่อจำเลยว่าเป็นคนร้ายและระบุด้วยว่าจำเลยหลบหนีออกนอกพื้นที่ แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยเป็นคนร้ายตั้งแต่วันเกิดเหตุแล้ว และการที่จำเลยหลบหนีไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยหลังจากเกิดเหตุย่อมเป็นพิรุธว่ากระทำความผิดจริง นอกจากนี้ เมื่อจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยก็ให้การรับสารภาพ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่ไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน แม้โจทก์ร่วมและผู้เสียหายจะมีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มวัยรุ่นมาก่อนเกิดเหตุ แต่ก็ไม่ได้มีเหตุทะเลาะวิวาทกับจำเลยโดยตรง จึงไม่มีเหตุให้ต้องระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ เชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสี่เบิกความตามความเป็นจริง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ชกต่อยผู้เสียหายและใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ผู้เสียหายไม่เห็นว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมว่าเป็นใครโดยจะเห็นได้จากการที่ผู้เสียหายเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามติงว่า หลังจากเกิดเหตุพยานถามนายบ่าวว่าใครเป็นคนใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม นายบ่าวบอกว่านายเป็ดหรือจำเลยนั้น เห็นว่า นอกจากผู้เสียหายเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามติงดังกล่าวแล้ว ผู้เสียหายยังเบิกความต่อด้วยว่าพยานจึงทราบชื่อของจำเลย เช่นนี้แสดงว่าผู้เสียหายเห็นและจำคนร้ายได้เพียงแต่ไม่รู้จักชื่อในขณะเกิดเหตุเพิ่งมาทราบชื่อคนร้ายจากการสอบถามนายบ่าวหลังจากเกิดเหตุ มิใช่ว่าผู้เสียหายไม่เห็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมดังที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกา ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า นายองอาจพยานโจทก์ร่วมเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมใส่เสื้อ แต่ผู้เสียหายและโจทก์ร่วมเบิกความว่า โจทก์ร่วมไม่ได้ใส่เสื้อ คำเบิกความของพยานโจทก์และโจทก์ร่วมจึงแตกต่างกันเป็นพิรุธ เห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวเป็นเรื่องการแต่งกายของโจทก์ร่วมไม่ใช่การแต่งกายของจำเลยที่อาจแสดงว่าจำคนผิด จึงไม่ใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ สำหรับปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมว่าร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมกับพวก แต่ไม่ได้ให้การรับสารภาพว่าใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุมไม่ถูกต้อง จำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่านข้อความและเจ้าพนักงานตำรวจก็ไม่ได้อ่านให้ฟัง เห็นว่า ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.14 มีข้อความระบุชัดเจนว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยได้แสดงหมายจับให้จำเลยดูและแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า พยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ข้อหาเหล่านี้ล้วนเป็นข้อหาร้ายแรงและมีระวางโทษสูง หากจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามข้อหาที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมโดยจำเลยคิดว่าจำเลยเพียงแต่ร่วมกับพวกชกต่อยโจทก์ร่วมกับพวกเท่านั้น จำเลยก็น่าจะโต้แย้งตั้งแต่ได้รับแจ้งข้อหาและปฏิเสธไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม แต่จำเลยกลับยอมลงลายมือชื่อในฐานะผู้ต้องหา โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้บังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายร่างกายเพื่อให้จำเลยลงลายมือชื่อแต่อย่างใด และสิบตำรวจเอกพินทุ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยก็เบิกความยืนยันด้วยว่าได้อ่านบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟังก่อนจำเลยลงลายมือชื่อ ดังนั้น การที่จำเลยกล่าวอ้างว่าจำเลยลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยไม่ได้อ่านข้อความและเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมไม่ได้อ่านให้ฟัง จึงขัดต่อเหตุผล เชื่อว่าจำเลยทราบข้อกล่าวหาและให้การรับสารภาพทุกข้อหาด้วยความสมัครใจจึงลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมนี้จึงย่อมรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้ ฎีกาของจำเลยอื่นนอกจากนี้ไม่เป็นสาระควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมาหนักแน่นมั่นคงฟังได้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมและกระสุนปืนยังทะลุพลาดไปถูกนายเอกพจน์ด้วย ทำให้โจทก์ร่วมและนายเอกพจน์ได้รับอันตรายสาหัส พยานหลักฐานของจำเลยที่นำสืบปฏิเสธว่าจำเลยไม่ใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมแต่คนร้ายเป็นนายชัยนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนที่จำเลยยิงอาจถูกโจทก์ร่วมถึงแก่ความตายได้หากถูกอวัยวะสำคัญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วม จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า แต่ผู้เสียหายหลบหลีกได้ทันจึงไม่ถึงแก่ความตาย และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหาย คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยชกต่อยผู้เสียหายซึ่งจำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วม กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและยังทะลุพลาดไปถูกนายเอกพจน์ด้วยนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมและฐานพยายามฆ่านายเอกพจน์โดยพลาดซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายและมิได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่านายเอกพจน์โดยพลาดจึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 และมาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 60 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา 288, 80 เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ยกฟ้องโจทก์ข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหาย ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา

Share