แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงชีวิตได้ ยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า เมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล โดยผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 91, 288, 371, 376, 391 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 (ที่ถูก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83), 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่น ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ อันเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 11 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายใช้อาวุธปืนลูกซองยิงผู้เสียหาย กระสุนปืนถูกบริเวณก้นด้านซ้าย เป็นแผลรูเล็ก ๆ หลายรู ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.3 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่า มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายและนายสายัณห์ ฉายอรุณ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า นายสายัณห์มีปากเสียงกับจำเลยที่บริเวณหน้าร้านโชติอนันท์ คาราโอเกะ แล้วจำเลยชักอาวุธปืนออกมา ผู้เสียหายจึงเดินเข้าไปห้ามแล้วนายสายัณห์เข้าไปชกจำเลย มีการกอดรัดต่อสู้กัน แต่ผู้เสียหายและนายสายัณห์ไม่สามารถแย่งอาวุธปืนจากจำเลยได้ เมื่อจำเลยสะบัดหลุด จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายซึ่งกำลังหันหลังวิ่งหนี โดยมีนายประทีป ซึ่งอยู่ในร้านที่เกิดเหตุด้วยเบิกความสนับสนุนว่า เห็นจำเลยกับนายสายัณห์ทะเลาะกันอยู่ที่หน้าร้าน โดยมีผู้เสียหายยืนอยู่ด้วย จากนั้นทั้งสามคนเข้าชกต่อยกัน สักครู่หนึ่งเห็นจำเลยยิงปืน 1 นัด แล้ววิ่งเข้ามาในร้านผ่านหน้าพยานไป คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสามมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และพยานโจทก์ดังกล่าวต่างไม่เคย มีสาเหตุโกรธเคืองกันกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลย คำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสามจึงมีน้ำหนักรับฟัง แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แต่บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้าของร้านค้าตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุหมาย จ.7 และร้อยตำรวจโทนุกูล พนักงานสอบสวนซึ่ง มาตรวจสถานที่เกิดเหตุภายหลังเกิดเหตุไม่นานก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า บริเวณดังกล่าวมีแสงสว่างมองเห็นกันได้ในระยะ 20 ถึง 25 เมตร เมื่อนายสายัณห์กับจำเลยต่างมีปากเสียงโต้ตอบกันก่อน โดยผู้เสียหายอยู่ในบริเวณนั้นด้วย ผู้เสียหายและนายสายัณห์ย่อมอยู่ใกล้จำเลยเพียงพอที่จะเห็นจำเลยชักอาวุธปืนออกมาได้ ประกอบกับผู้เสียหายและนายสายัณห์ต่างเบิกความว่า ที่เข้าชกต่อยกอดรัดจำเลยเนื่องมาจากจำเลย ชักอาวุธปืนออกมาแล้วเล็งไปที่ผู้เสียหายและนายสายัณห์ ซึ่งนับว่าสมด้วยเหตุผลเพราะ ในภาวะเช่นนั้นผู้เสียหายและนายสายัณห์ย่อมต้องหาทางให้พ้นจากการถูกยิงด้วยการเข้าแย่งอาวุธปืนนั้นเสีย และแม้ผู้เสียหายจะถูกยิงในขณะหันหลังวิ่งหนีไม่อาจเห็นว่า กระสุนปืน ที่ยิงถูกตนนั้นจำเลยเป็นผู้ยิงหรือไม่ แต่กรณีเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน โดยไม่ปรากฏว่ามีบุคคลอื่นใดที่มีอาวุธปืนและอยู่ในบริเวณนั้นอีก และนายสายัณห์กับนายประทีปก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจริง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า หลังจากพวกของผู้เสียหายตบพวกของจำเลยแล้ว จำเลยก็ชวนพวกของจำเลยกลับ แต่เมื่อเดินออกจากร้านที่เกิดเหตุไป ผู้เสียหายเข้ามา ชกต่อยจำเลย จากนั้นพวกของผู้เสียหายหลายคนเข้ามารุมทำร้ายจำเลยด้วย โดยจำเลยไม่มีอาวุธใดติดตัวไปนั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ขาดเหตุผล ผู้เสียหายและนายสายัณห์ไม่ได้ มีเรื่องบาดหมางกับจำเลย จึงไม่มีเหตุที่จะเข้าทำร้ายจำเลยก่อน ทั้งจำเลยมิได้นำพวก ของจำเลยที่อ้างว่าอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกันมาเบิกความสนับสนุน ประกอบกับตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.14 จำเลยให้การแก่พนักงานสอบสวนรับว่า จำเลย ใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นซึ่งพกอยู่ที่เอวยิงสวนไปที่ลำตัวของผู้เสียหายเจือสมพยานโจทก์ เพียงแต่อ้างว่าเป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวเท่านั้น พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า คำเบิกความของผู้เสียหายและนายสายัณห์ขัดต่อเหตุผลเพราะหากจำเลยมีอาวุธปืน ผู้เสียหายและนายสายัณห์ก็ไม่น่าจะกล้าเข้าแย่ง และจำเลยก็น่าจะใช้อาวุธปืนนั้นยิงผู้เสียหายและนายสายัณห์เสีย ในขณะนั้นได้ ไม่จำต้องปล่อยให้มีการชกต่อยต่อสู้กันนั้น เห็นว่า ได้ความว่า ขณะเกิดเหตุ มีเพียงจำเลยเท่านั้นที่มีอาวุธปืน และไม่มีพวกของจำเลยเข้ามาช่วยเหลือจำเลยอีก ดังนั้นหากสามารถแย่งอาวุธปืนจากจำเลยได้ ผู้เสียหายและนายสายัณห์ย่อมพ้นจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้น การที่ผู้เสียหายและนายสายัณห์เข้าแย่งอาวุธปืนโดยชกต่อยจำเลยจึงมิใช่เรื่องผิดวิสัย อันจะทำให้คำเบิกความของพยานดังกล่าวมีน้ำหนักลดน้อยลง ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยมีเพียงเจตนาทำร้ายเพราะหากจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายแล้ว จำเลย ก็คงยิงไปที่อวัยวะสำคัญนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงสามารถทำอันตรายถึงชีวิตได้ยิงผู้เสียหายในระยะใกล้เช่นนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า กระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า เมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล โดยผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย เนื่องจากกระสุนปืนไม่ถูกอวัยวะสำคัญ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นการให้ความรู้ แก่ศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่ การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ภาค 1