แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2508 และได้จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2510 เมื่อประมาณปลายปี 2510นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล ได้จัดสรรที่ดินให้แก่โจทก์และจำเลยเป็นที่ดินแปลงที่ 50 ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล รวมเนื้อที่ 18 ไร่เศษ โจทก์และจำเลยได้ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินเพื่ออยู่อาศัยป็นบ้านไม้สองชั้น และปลูกยางพารา ในปี 2511 จำเลยประพฤติตนเสเพล ไม่รับผิดชอบปล่อยให้โจทก์ต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพัง และนับตั้งแต่ปี 2517 โจทก์กับจำเลยก็ได้เลิกร้างมิได้ยุ่งเกี่ยวกันอีกเลย โจทก์ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยอีกต่อไป โจทก์ได้พยายามหย่าขาดกับจำเลยหลายครั้งแล้ว แต่จำเลยกลับเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้จำเลยหย่ากับโจทก์ และแบ่งที่ดินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล มอบให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์เพื่อการเลี้ยงชีพ มิได้มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ทั้งที่ดินดังกล่าวยังมิได้มีการออกโฉนด จึงไม่ใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ให้กึ่งหนึ่งตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งสินสมรสคือโฉนดที่ดินเลขที่ 4208 และเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล พร้อมส่วนควบให้โจทก์ จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจกระทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ให้ขายโดยการประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ 4208 และเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2508 โจทก์กับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 1 คนแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2510 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูลและได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทจากนิคมดังกล่าวในวันเดียวกัน โดยที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมือเปล่ายังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อย่างใด หลังจากนั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2510 โจทก์จำเลยจึงเพิ่งจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาปี 2548 โจทก์มายื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้และขอแบ่งสินสมรสซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน และจำเลยเพิ่งได้รับโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินปลูกบ้านอาศัยและที่ดินทำสวนยางพารา ตามโฉนดที่ดินดังกล่าวระบุข้อห้ามโอนตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 คือ ห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2548 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ตามลำดับ สำหรับบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 70/4 และต้นยางพาราในที่ดินโฉนดเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรส
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทสองแปลงในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้หรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้บังคับคดีโดยให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งนั้นถูกต้องชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยเพียงแต่อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียว ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกันโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์และจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้แบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่ เพียงใด ก็ครอบคลุมถึงประเด็นว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ด้วยแล้ว เพราะเป็นผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อต่อสู้ของจำเลย ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลยหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติว่า ที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีสิทธิกระทำได้ ทั้งมิใช่การบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่จำเลยอยู่กินกับโจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และพิพากษาให้ใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ