คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9641/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้เถียงว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ดังนี้ ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้อีก ทั้งศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมได้เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่ยังไม่ได้คืน 17,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวณัชสุดา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมอันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ดังนี้ ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ ทั้งศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมได้เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของโจทก์ร่วม

Share