คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15690/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องทุกข์ในคดีอาญา กฎหมายมิได้กำหนดแบบการร้องทุกข์ไว้ จึงอาจร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือหนังสือก็ได้ สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายวิโรจน์ร้องทุกข์จริงหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลมิได้สงสัยและจำเลยไม่ได้ให้การหรือนำสืบต่อสู้แสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ถือว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจตามใบมอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 510,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายอิคูโอะ โคบายชิ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 (ที่ถูก มาตรา 352 วรรคแรก) จำคุก 1 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 510,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การมอบอำนาจของโจทก์ร่วมให้นายวิโรจน์ร้องทุกข์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า นายวิโรจน์เบิกความว่าส่งเอกสารมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมลงลายมือชื่อที่ประเทศญี่ปุ่น และส่งทางไปรษณีย์กลับมาโดยไม่มีการรับรองจากกงสุลไทยหรือโนตารีปับลิกรับรอง เท่ากับจำเลยยกข้อต่อสู้แสดงเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจที่แท้จริงนั้น เห็นว่า การร้องทุกข์ในคดีอาญากฎหมายมิได้กำหนดแบบการร้องทุกข์ไว้ จึงอาจร้องทุกข์ด้วยวาจาหรือหนังสือก็ได้ สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจให้นายวิโรจน์ร้องทุกข์จริงหรือไม่เท่านั้น เมื่อศาลมิได้สงสัยและจำเลยมิได้ให้การหรือนำสืบต่อสู้แสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจ ไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์ร่วมมอบอำนาจตามใบมอบอำนาจแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมยื่นพยานเอกสารหลังจากสืบพยานโจทก์และจำเลย ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 36 จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนว่า โจทก์ร่วมขอให้ศาลออกหมายเรียกต้นฉบับหรือสำเนาเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขานานาเหนือ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการลงลายมือชื่อรับเงินตามเช็คฉบับรับรองสำเนาถูกต้อง ซึ่งโจทก์ได้อ้างส่งสำเนาเช็คดังกล่าวเป็นพยานแล้วตามเช็คเอกสารหมาย จ. 4 ทั้งเมื่อผู้ครอบครองเอกสารได้จัดส่งสำเนาเช็คดังกล่าวต่อศาล ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมยื่นคำร้องหรือคำแถลงขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาล ฎีกาของจำเลยดังกล่าวแม้เป็นข้อกฎหมาย แต่ก็ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

Share