คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6809/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ระบุว่าสัญญาประกันภัยรายนี้จำเลยที่2เป็นผู้เอาประกันภัยและป. เป็นผู้รับประโยชน์จำเลยที่1จึงไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อันจะทำให้จำเลยที่3ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดหากวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้างแรงของจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา879และจะแปลความหมายของคำว่าผู้เอาประกันภัยตามมาตรา879วรรคหนึ่งรวมถึงลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วยก็ขัดกับคำนิยามของคำว่า”ผู้เอาประกันภัย”ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา862อีกทั้งตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวปรากฎว่ามีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยข้อ2.3คือความรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้หลายประการแต่ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงงานอยู่ด้วยจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่1ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่เพราะเมื่อไม่มีข้อยกเว้นที่จำเลยที่3ไม่ต้องรับผิดทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามสัญญาประกันภัยจำเลยที่3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตารางกรมธรรม์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2534 เวลา 23.30 นาฬิกาจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างให้ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 82 – 5681 นครปฐม อันเป็นยานพาหนะเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลไปส่งดินให้แก่ลูกค้า เมื่อถึงที่หมายจำเลยที่ 1ยกกระบะท้ายเทดินส่งมอบแก่ลูกค้าแล้วคงปล่อยกระบะท้ายคาไว้ไม่ลดระดับลงเพื่อเก็บเข้าที่อันเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่น จำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกค้นดังกล่าวกลับมาตามถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปทางหนองแขมกระบะท้ายซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าสะพานลอยคนเดินข้ามถนนหน้าวิทยาลัยเอเซียอาคเนย์ จึงชนสะพานลอยแห่งนั้นโดยแรงจนกระบะท้ายหลุดออกจากตัวรถยนต์บรรทุก เป็นเหตุให้สะพานลอยดังกล่าวได้รับความเสียหายเป็นเงิน 201,480 บาท พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหนองแขมทำการเปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวต้องร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน201,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันทำละเมิดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 9 เดือน รวมเป็นเงิน 212,813.25 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้วแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 212,813.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 201,480 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยได้รับการวานใช้และเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เพื่อบรรทุกดินไปลงจุดหมายปลายทางและได้ใช้ความระมัดระวังแล้ว เมื่อยกกระบะท้ายเทดินลงจากรถยนต์บรรทุกแล้วได้ลดกระบะท้ายลงจนถึงที่สุดจึงขับรถออกไป แต่กระบะท้ายยกขึ้นไปอีกด้วยเหตุใดไม่ทราบ และจำเลยที่ 1กระทำการไปในฐานะตัวแทนและอยู่ในกิจการของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการ จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นค่าเสียหายดังกล่าวสูงเกินความจริง และคำฟ้องของโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลย ที่ 2 ขาดนัด ยื่นคำให้การ และ ขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของสะพานลอยที่เกิดเหตุ ในที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 82 – 5681 นครปฐม ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงยกกระบะท้ายขึ้นสูงโดยมิได้ควบคุมลดระดับให้ต่ำลงหลังจากใช้งานแล้วจนเป็นเหตุให้กระบะท้ายชนกับสะพานลอยดังกล่าว จำเลยที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดในวินาศภัยที่เกิดขึ้น แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยก็ตาม โจทก์เสียหายไม่เกิน 20,000 บาท โจทก์ไม่เคยทวงถามให้ชำระหนี้ตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายจำนวน212,813.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 201,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลย ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 212,306.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ของต้นเงิน 201,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของสะพานลอยที่เกิดเหตุ
ข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879นั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าววรรคหนึ่งมีใจความว่าผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์และมาตรา 862 ได้บัญญัติไว้ว่า คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย และคำว่า”ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รบค่าสินไหมทดแทนหรือรับจำนวนเงินใช้ให้ตามสำเนาตารางกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.31ระบุว่า สัญญาประกันภัยรายนี้จำเลยที่ 2เป็นผู้เอาประกันภัย และนายประสิทธิ์ ดีศิลปกิจ เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์และจะแปลงความหมายของคำว่า ผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 879วรรคหนึ่ง รวมถึงลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วยก็ขัดกับคำนิยามของคำว่า ผู้เอาประกันภัย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 862 และตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวปรากฎว่า มีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยข้อ 2.3 คือความรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้หลายประการ แต่ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงรวมอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่เพราะเมื่อไม่มีข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตารางกรมธรรม์
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 201,000 บาท ไม่ชอบด้วยเหตุผลนั้น โจทก์นำสืบว่าสะพานลอยที่เกิดเหตุถูกชนได้รับความเสียหายมาก โจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท ประวิทย์วิศวกรรม จำกัด ทำการซ่อมเป็นเงิน 201,000 บาทตามสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.18 ส่วนจำเลยที่ 3ไม่ได้นำสืบโต้แย้งหรือหักล้างการนำสืบของโจทก์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริงอย่างไร จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายโดยต้องว่าจ้างผู้รับจ้างให้ซ่อมสะพานลอยเป็นเงิน 201,000 บาท จริง
พิพากษายืน

Share