คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9213/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งห้ากล่าวในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับว่า ขอความกรุณาศาลขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับออกไปมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นฎีกา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นว่า แม้ในคำร้องของจำเลยทั้งห้าจะขอขยายระยะเวลา แต่คงมิได้หมายความถึงการขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 23 ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทำได้เฉพาะเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ จำเลยทั้งห้าประสงค์เพียงขอให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปที่มีอยู่กำหนดเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับให้ใหม่ และศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นสมควรให้เวลาแก่จำเลยทั้งห้า โดยให้ยื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับได้ภายในวันที่ 31ตุลาคม 2538 ซึ่งจำเลยทั้งห้าก็ได้ยื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับภายในกำหนดดังกล่าว ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
ตามคำฟ้องมีข้อความตอนหนึ่งว่า ฉ.ขอยืมเงินจำเลยที่ 1และที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแล้วทำสัญญายกที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทคนละ 14 ไร่ 1 งาน โดยให้ทายาททุกคนชำระเงินคนละ 4,400 บาทแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากนั้น ฉ.จึงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสี่ทราบถึงสัญญาจึงไปขอรับชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 บ่ายเบี่ยงไม่ยอมแบ่งให้ โดยโจทก์ทั้งสี่ได้แนบสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.1 มาท้ายคำฟ้องด้วย จากถ้อยคำในคำฟ้องและสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งเป็นเอกสารท้ายฟ้องแสดงให้เห็นว่า ฉ.กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตามเอกสารหมาย จ.1 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น
สัญญาเอกสารหมาย จ.1 มีข้อความระบุว่า โจทก์ที่ 1ถึงที่ 3 และ ช.จะต้องนำเงินคนละ 4,400 บาท ไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1และที่ 2 ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาเสียก่อนแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2จึงจะแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และ ช.บิดาโจทก์ที่ 4 ซึ่งได้ทราบถึงข้อกำหนดในสัญญาแล้ว แต่มิได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และเสนอชำระเงินคนละ4,400 บาท ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญา โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 บุตรของ ช.จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2แบ่งที่ดินพิพาทให้ตามสัญญา สำหรับโจทก์ที่ 1 แม้จะได้ไปยื่นคำขออายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ก็ตาม แต่คำขออายัดดังกล่าวมีข้อความเพียงว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 สัญญาจะแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 5 ปี บัดนี้จะครบกำหนด 5 ปีแล้ว ก็ยังไม่ยินยอมแบ่งให้ โจทก์ที่ 1 จึงขออายัดที่ดินพิพาทเพื่อจะไปฟ้องร้อง โดยไม่มีข้อความว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระหรือเสนอจะชำระเงิน4,400 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามข้อกำหนดในสัญญาเอกสารหมายจ.1 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2แบ่งที่ดินพิพาทให้ตามสัญญาเช่นเดียวกัน และเมื่อโจทก์ทั้งสี่หมดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้ดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3ถึงที่ 5

Share