แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ซึ่งเป็นนายประกันอาชีพเห็นอยู่แล้วว่าหนังสือมอบอำนาจที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหายังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ลงไว้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ย่อมจะทราบได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะมอบอำนาจให้ใครกระทำการใดแทนนั้น ย่อมต้องมีการระบุข้อความที่มอบอำนาจไว้อย่างแน่นอนและชัดเจน แต่ได้มีการนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาให้ ส. กรอกรายการในขณะนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ยืนอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะรู้ว่าเกิดมีเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้น ควรที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กลับส่งเสริมให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ให้นำเอาเอกสารที่ไม่ชอบเหล่านั้นไปยื่นต่อศาล โดยแนะนำด้วยว่าให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่คนใดจึงจะสะดวกและรวดเร็ว พร้อมกับยอมรับเป็นผู้รับส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลอีก พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำการหลอกลวงศาลให้มีคำสั่งโดยผิดหลงว่าหลักฐานที่นำยื่นเข้ามาเป็นเอกสารที่ถูกต้อง จนมีคำสั่งอนุญาตตามความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กับพวก อันเป็นทางได้มาซึ่งผลประโยชน์ 10 เปอร์เซ็นต์ของหลักประกันที่ศาลตีราคา จึงถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) และมาตรา 33
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาลหรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 อ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มอบอำนาจให้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 9414 ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม มาเป็นหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราวนางรัศมี สุขเขียว ผู้ต้องหาในคดีฝากขังหมายเลขดำที่ ฝ.222/2544 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เข้าเป็นผู้รับมอบฉันทะในการนำผู้ต้องหามาส่งตัวต่อศาลตามกำหนด ศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งอายัดที่ดินดังกล่าวไปยังสำนกังานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย แจ้งว่าที่ดินดังกล่าวมีชื่อนายลัดดา พรมงาม เป็นเจ้าของที่ดิน มิใช่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ศาลชั้นต้นไต่สวนในเบื้องต้นแล้วเห็นว่านอกจากจะมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารสิทธิและเอกสารราชการปลอมแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ถึงที่ 7 มีพฤติการณ์น่าจะเข้าลักษณะเป็นการร่วมกระทำความผิดกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดน่าจะเข้าลักษณะเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงดำเนินการไต่สวน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1), 33 จำคุกมีกำหนดคนละ 6 เดือน นับโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ต่อจากโทษจำคุกในคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขแดงที่ 2/2544 ของศาลชั้นต้น
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามทางไต่สวนได้ความฟังเป็นยุติได้ว่า นางรัศมี สุขเขียว ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและได้ถูกนำตัวไปขอฝากขังยังศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 มีความประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราวจึงติดต่อไปยังผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 เพื่อหาหลักทรัพย์มาประกันในวงเงิน 50,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 จึงติดต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ให้ช่วยหาหลักทรัพย์ให้ จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ได้ติดต่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวที่ 6 ได้ติดต่อกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 7 จึงได้หลักทรัพย์มาประกันนางรัศมีซึ่งก็คือโฉนดที่ดินเลขที่ 9414 ตำบลปะหลาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม อันมีชื่อผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ พร้อมหนังสือรับรองราคาที่ดิน หนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และใบมอบฉันทะ นำมามอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 แล้วผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 และผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้นำเอกสารเหล่านั้นไปยื่นขอประกันตัวนางรัศมีต่อศาลชั้นต้นชั้นที่สุด ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนางรัศมีโดยตีราคาหลักประกัน 500,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีหนังสือแจ้งอายัดไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดมหาสารคาม สาขาพยัคฆภูมิพิสัย และได้รับตอบกลับมาว่า ความจริงที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายลัดดา พรมงาม มิใช่ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และมีราคาประเมินเพียง 25,375 บาทเท่านั้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ เห็นว่า จากการไต่สวนของศาลชั้นต้น ได้ความจากคำเบิกความของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เองว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เป็นนายประกันอาชีพมาประมาณ 3 ปีแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ย่อมเป็นผู้ที่รู้ความเป็นไปในวงการดี จากความที่เป็นมืออาชีพนี่เองที่แม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะไม่มีหลักทรัพย์ที่จะใช้เป็นหลักประกันผู้ต้องหาเป็นของตนเองก็สามารถหาหลักทรัพย์จากใครก็ได้ ดังนั้น จึงมองไม่เห็นความสำคัญของเอกสารต่าง ๆ ที่จะยื่นเสนอต่อศาลว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น ในคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอยู่ต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 อย่างแน่ชัดว่าหนังสือมอบอำนาจที่จะใช้เป็นหลักฐานในการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหายังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ ลงไว้ ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 เป็นมืออาชีพย่อมจะทราบได้ว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการที่จะมอบอำนาจให้ใครกระทำการใดแทนนั้น ย่อมต้องมีการระบุข้อความที่มอบอำนาจไว้อย่างแน่นอนและชัดเจน แต่ได้มีการนำหนังสือมอบอำนาจมาให้นายสรายุทธ ทัดจันทึก กรอกรายการในขณะนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ยืนอยู่ใกล้ ๆ ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะรู้ว่าเกิดมีเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้น ควรที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จะว่ากล่าวตักเตือนไม่ให้กระทำ แต่การหาเป็นเช่นนั้นไม่ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กลับส่งเสริมให้คำแนะนำแก่ผู้ถูกกล่าวหาคนอื่น ๆ ให้นำเอาเอกสารที่ไม่ชอบเหล่านั้นไปยื่นต่อศาลโดยแนะนำด้วยว่าให้ยื่นต่อเจ้าหน้าที่คนใดจึงจะสะดวกและรวดเร็วพร้อมกับยอมรับเป็นผู้รับส่งตัวผู้ต้องหาต่อศาลอีก ดังนี้ พฤติการณ์และการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 จึงถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำการหลอกลวงศาลให้มีคำสั่งโดยผิดหลงว่าหลักฐานที่นำยื่นเข้ามานั้นเป็นเอกสารที่ถูกต้องจนมีคำสั่งอนุญาตตามความประสงค์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 กับพวกอันเป็นทางได้มาซึ่งผลประโยชน์ 10 เปอร์เซ็นต์ ของหลักประกันที่ศาลตีราคา อันถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 (1) และมาตรา 33 ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ในการลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 นั้น ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบโดยชัดแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ต้องหาด้วยข้อหาใด การที่ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วสั่งลงโทษไปทีเดียวอันเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล เมื่อปรากฏต่อศาลว่าผู้ใดกระทำละเมิดอำนาจศาล จะปรากฏโดยผู้นั้นกระทำต่อหน้าศาล หรือปรากฏจากหลักฐานอื่นใด ศาลก็ย่อมสั่งลงโทษได้ทันทีโดยไม่จำต้องแจ้งข้อหาหรือส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการแต่อย่างใด เพียงแต่ศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามให้ได้ความว่าเรื่องเป็นดังที่ปรากฏในเอกสารที่นำเสนอจริงหรือไม่ ก็ไม่สามารถสั่งลงโทษได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ว่า คดีมีเหตุสมควรที่จะลงโทษในสถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 กับพวกร่วมกระทำความผิดครั้งนี้เป็นกระบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ มีการดำเนินการเป็นขั้นตอน แต่ละคนล้วนยอมรับว่าเป็นนายประกันอาชีพซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วน่าจะต้องช่วยกันรักษาเกียรติภูมิของศาลให้ยั่งยืน สวยงามในสายตาของสังคม แต่ทุกคนกลับมากระทำคล้ายกับจะย่ำยีความดีงามทั้งหลายที่เคยมีมาแต่อดีตให้สลายไป นับว่าผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 กับพวกร่วมกระทำการอันเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อสถาบันศาลยุติธรรมสมควรที่จะลงโทษเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างสืบไป จึงเห็นว่าไม่มีเหตุที่จะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ในสถานเบาหรือรอการลงโทษให้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน