คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้มูลหนี้ตามฟ้องจะเป็นหนี้ค่าภาษีอากร แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างุ้นส่วนจำกัด น. ซึ่งจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 แต่เมื่อโจทก์มีหนังสือเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2532 แจ้งให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ การที่พนักงานมีหนังสือถึงจำเลยให้ชำระภาษีอากรดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้อง อันมีผลให้จำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องร้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยรับหนังสือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วันที่กำหนดให้จำเลยนำเงินภาษีอากรไปชำระ ดังนั้น อายุความเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรดังกล่าวจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2532 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 จึงพ้น 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากรและเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างดังกล่าว ซึ่งได้จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 ภายหลังเสร็จสิ้นการชำระบัญชี โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 12 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2528 และวันที่ 12 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2529 ไม่ถูกต้อง โจทก์จึงประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลใหม่ โดยในรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 12 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2528 ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม 3,374,500.22 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 12 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2529 ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม 379,881.64 บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินให้จำเลยนำเงินมาชำระค่าภาษีอากรดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 ครบกำหนดแล้วไม่ชำระและไม่ได้อุทธรณ์ การประเมินของโจทก์ย่อมถึงที่สุดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2539 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 การทวงถามแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ครบกำหนดตามที่ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ จำเลยจึงเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายขาดอายุความเพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากรได้จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะหุ้นส่วนและผู้ชำระบัญชีในหนี้ของห้าง โจทก์ต้องฟ้องภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 2 ปี นอกจากนี้หนี้ค่าภาษีอากรที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในปี 2527 และปี 2528 ซึ่งหนี้ดังกล่าวมีอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี จึงขาดอายุความเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากรและเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างดังกล่าวซึ่งได้จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากรในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2528 และระหว่างวันที่ 12 มีนาคม 2528 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2529 ไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง โจทก์ได้ทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวใหม่ ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2532 โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยให้นำเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรวม 3,374,500.22 บาท ไปชำระให้โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ ซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระและไม่ได้อุทธรณ์การประเมินของโจทก์ โจทก์ตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยแล้วพบว่าจำเลยมีทรัพย์สินเป็นพันธบัตรเงินกู้ปีงบประมาณ 2521 ราคาที่ตราไว้ 10,000 บาท โจทก์จึงมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยพันธบัตรเงินกู้ดังกล่าวไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2532 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้นำส่งดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมาจนครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2536 ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ไถ่ถอนพันธบัตรคืนจากการไฟฟ้านครหลวงเนื่องจากจำเลยได้โอนให้แก่การไฟฟ้านครหลวง นอกจากนี้แล้วจำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยคงเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า มูลหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ค่าภาษีอากรของรัฐ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะว่ามีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 โจทก์แจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2532 อายุความจึงสะดุดหยุดลง เห็นว่า แม้มูลหนี้ตามฟ้องจะเป็นหนี้ค่าภาษีอากร แต่ก็เป็นการฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากร ซึ่งจดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2530 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2532 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันรับหนังสือ การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือถึงจำเลยให้ชำระภาษีอากรดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามที่เรียกร้องอันมีผลให้จำเลยอาจถูกยึดทรัพย์สินขายทอดตลาดโดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล การสั่งบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (5) จำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2532 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่พ้นกำหนด 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยนำเงินภาษีอากรไปชำระ ดังนั้น อายุความเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2532 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดนิสากรเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2542 จึงพ้นกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1272 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษายืน

Share