แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้ จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองกำหนด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีแล้วไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด ดังนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 58, 91 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 217/2556 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน บวกโทษจำคุก 1 เดือน ของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 217/2556 ของศาลชั้นต้น ที่รอการลงโทษไว้เข้ากับโทษจำคุกคดีนี้เป็นจำคุก 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจ วินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษก่อนหน้าคดีนี้ จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองกำหนด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้วไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยองได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด ดังนี้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดระยอง มีคำสั่งที่ 318/2556 ว่า การที่จำเลยต้องหาและอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดีอาญาอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกจึงเป็นกรณีที่ต้องตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และไม่สามารถนำมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับกับจำเลยได้ จึงให้ส่งตัวจำเลยคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยยังไม่ได้ตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดของจำเลยก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับ เมทแอมเฟตามีนของกลางที่โจทก์ขอให้มีคำสั่งริบด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 215 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงให้ริบเสียตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์