คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่นายจ้างให้ลูกจ้างที่ทำงานเป็นพนักงานเสริฟพักอาศัยอยู่ที่ชั้นบนของภัตตาคารและให้ลูกจ้างรับประทานอาหารวันละ2 มื้อนั้นมีลักษณะเป็นการให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลืออันเป็นสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้าง กรณีดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้าง ส่วนเงินค่าบริการเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์จะนำเงินดังกล่าวมาแบ่งปันจ่ายให้เป็นรางวัลแก่ลูกจ้างนอกเหนือจากการจ่ายค่าจ้างตามปกติ ในกรณีที่นายจ้างเรียกเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ นายจ้างก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินค่าบริการแก่ลูกจ้าง เงินค่าบริการดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 2 เช่นกัน.
โจทก์เป็นพนักงานเสริฟในภัตตาคารของจำเลย ชอบพูดจาหยาบคายกับลูกค้า ค่าพนักงานอื่นและเคยด่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย กรณีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดอันจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 47 แต่พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งพนักงานเสริฟ จ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างกรณีร้ายแรงซึ่งไม่เป็นความจริง ตลอดเวลาที่ทำงานจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างชั้นต่ำ และสั่งให้โจทก์ทำงานเกินเวลาทำงานปกติโดยจำเลยยังค้างจ่ายค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลาแก่โจทก์ด้วยขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าจ้างที่ค้างชำระ และค่าล่วงเวลาพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่าโจทก์มีเวลาทำงานกับจำเลยเพียง ๑ ปี ๕ เดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายละเลยต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ ทำความผิดร้ายแรง กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์และไม่เหมาะสมแก่หน้าที่คือมักใช้วาจาไม่สุภาพและใช้วาจาเสียดสีพนักงานด้วยกันและผู้บังคับบัญชา ใช้วาจาไม่สุภาพและไล่ลูกค้าซึ่งมาใช้บริการ และโจทก์ยังขาดงานเกินกว่า ๓ วันทำงานติดต่อกัน จำเลยจะปลดโจทก์ออกแต่โจทก์ว่าจะขอลาออกแล้วไม่ลาออก จำเลยจึงปลดโจทก์ออกจากงานโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแล้ว เพราะจำเลยได้จ่ายเงินเพิ่มพิเศษเงินค่าบริการแก่โจทก์ และให้จำเลยพักอาศัยอยู่ชั้นบนและให้โจทก์รับประทานอาหารอีกวันละ ๒ มื้อ คิดรวมแล้วไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๒,๒๐๐ บาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างค้างชำระจำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทำงานเกินกว่าเวลาทำงานที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการที่โจทก์ชอบพูดจาหยาบคายกับลูกค้า ด่าพนักงานอื่นและเคยด่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ แต่เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ ค่าอาหารและค่าที่พักไม่ใช่ค่าจ้าง พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยให้โจทก์พักอาศัยอยู่ที่ชั้นบนของภัตตาคารและให้โจทก์รับประทานอาหารวันละ ๒ มื้อ นั้น มีลักษณะเป็นการให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลืออันเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ส่วนค่าบริการนั้น เป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บจากลูกค้าเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าอาหาร โดยนำเงินนั้นมาแบ่งปันจ่ายเป็นรางวัลแก่ลูกจ้างนอกเหนือจากค่าจ้างตามปกติถือไม่ได้ว่าเป็นเงินของนายจ้างทั้งในกรณีที่จำเลยเรียกเก็บเงินจากลูกค้าไม่ได้ จำเลยก็ไม่มีหน้าที่หรือข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายค่าบริการให้แก่ลูกจ้าง เงินค่าบริการจึงไม่ใช่ค่าจ้าง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ใช้วาจาไม่สุภาพต่อผู้มาใช้บริการใช้วาจาเสียดสีพนักงานด้วยกัน และด่าผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย ถือว่าเป็นการกระทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ชอบพูดจาหยาบคายกับลูกค้าและด่าพนักงานอื่นและเคยด่าทนายจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของจำเลย เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ดังกล่าวมาแล้วก็ตาม กรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดอันจำเลยจะเลิกจ้างโจทก์เสียได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ ๔๗ แต่อย่างไรก็ตาม พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวมาย่อมเห็นได้ว่า เป็นการกระทำอันไม่เหมาะสมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๕,๑๗๖.๒๖ บาท และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน ๓,๕๗๐ บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share