คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3424/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.เทศบาลพ.ศ.2496มาตรา7วรรคสองบัญญัติให้เทศบาลเป็นทบวงการเมืองมีอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวและกฎหมายอื่นเทศบาลเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะต้องดูแลว่าสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพหรือไม่เทศบาลจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าสมาชิกสภาเทศบาลขาดจากสมาชิกภาพของสภาเทศบาลการยื่นคำร้องไม่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของหน้าที่เทศบาลและเทศบาลมีอำนาจยื่นคำร้องได้เองโดยไม่ต้องให้นายกเทศมนตรีทำการแทนในนามของนายกเทศมนตรี เมื่อการเป็นพระภิกษุเป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งลาไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพียงชั่วคราวหลังวันเลือกตั้งจึงมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามความหมายของพ.ร.บ.เทศบาลพ.ศ.2496มาตรา19(4)เป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลผู้นั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่อุปสมบทโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นการอุปสมบทเพียงชั่วคราวและได้ลาอุปสมบทแล้วหรือไม่.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านสมาชิกเทศบาลเมืองภูเก็ตได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเป็นผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านขาดจากสมาชิกภาพแห่งเทศบาลเมืองภูเก็ตตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 19 วรรคสอง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496มิได้บัญญัติถึงบุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยถึงการสิ้นสุดสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลไว้ จึงต้องเอาบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 มาใช้ ซึ่งต้องให้ผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบคน หรือผู้สมัครคนใดในเขตเลือกตั้งเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลเทศบาลเมืองภูเก็ตไม่มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาล ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านมิได้มีฐานะเป็นพระภิกษุ ไม่มีเหตุที่จะสั่งให้พันจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลเมืองภูเก็ต พิพากษายกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านขาดจากสมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 พิพากษากลับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา19(4) ที่แก้ไขแล้ว ให้สมาชิกภาพแห่งสภาเทศบาลสิ้นสุดลงเมื่อสมาชิกมีลักษณต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลในที่นี้ก็คือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พุทธศักราช 2482 พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดไว้ในมาตรา 21(8) ที่แก้ไขใหม่ว่า ผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 19(3)เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัตรรับเลือกตั้ง มาตรา 18(3) ที่แก้ไขใหม่แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้ได้ระบุว่า ผู้เป็นภิกษุในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ตามบทบัญญัติดังกล่าวมานั้นแสดงว่าบุคคลผู้เป็นพระภิกษุไม่มีสิทธิเลือกตั้ง บุคคลผู้เป็นพระภิกษุจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อการเป็นพระภิกษุเป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุจึงมีลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามความหมายของพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 19(4) เป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลผู้นั้นสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่อุปสมบทโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเป็นการอุปสมบทเพียงชั่วคราว และได้ลาอุปสมบทแล้วหรือไม่ซึ่งปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3864/2526 เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนโจทก์ ร้อยตำรวจตรีฉาย ปิ่นทอง จำเลย ฉะนั้น เมื่ผู้คัดค้านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุจึงขาดจากสมาชิกภาพของสภาเทศบาลเมืองภูเก็ตดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าการยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นการกระทำนอกเหนือขอบวัตถุประสงค์ ทั้งนายกเทศมนตรีไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำร้องผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 7 วรรคสอง บัญญัติในเทศบาลเป็นทบวงการเมืองมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและกฎหมายอื่น และตามมาตรา 31, 32, 36, 37 และ 39 องค์การเทศบาลประกอบด้วยสภาเทศบาลและคณะเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาลมีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะเทศมนตรี ส่วนคณะเทศมนตรีซึ่งประกอบด้วยนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีก็แต่งตั้งจากสมาชิกสภาเทศบาลคณะเทศมนตรีควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารกิจการของเทศบาล ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสมาชิกสภาเทศบาลนั้นนอกจากจะมีหน้าที่ควบคุมดูแลการบริหารงานของคณะเทศมนตรีแล้ว ยังอาจได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะเทศมนตรีทำหน้าที่บริหารงานของเทศบาลด้วย สมาชิกสภาเทศบาลจึงเป็นผู้มีสิทธิอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเทศบาลโดยตรงดังนั้น เมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นว่าสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพหรือไม่ ย่อมเกิดความไม่แน่นอนในการปฎิบัติงานของสมาชิกสภาเทศบาลผู้นั้นว่าจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ซึ่งย่อมกระทบกระเทือนต่อการบริหารงานของเทศบาลด้วยเทศบาลจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะต้องดูแลว่าสมาชิกสภาเทศบาลผู้ใดขาดจากสมาชิกภาพหรือไม่ การสิ้นสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลเพราะมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496มาตรา 19(4) นั้น วรรคสองของมาตราดังกล่าวกำหนดให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดซึ่งก็จะต้องมีผู้ยื่นคำร้องเสนอปัญหาดังกล่าวต่อศาล เมื่อผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในปัญหานี้ดังได้กล่าวมาแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ที่จะยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านขาดจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลหรือไม่ การยื่นคำร้องดังกล่าวจึงหาอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของงานในหน้าที่ของผู้ร้องไม่และผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องได้เองโดยไม่ต้องให้นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นผู้ทำการแทนผู้ร้องเป็นผู้ดำเนินการในนามนายกเทศมนตรีดังผู้คัดค้านฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share