คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2954/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายซึ่งเป็นความผิดที่มีการกระทำอย่างเดียว แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ชกต่อยทำร้ายร่างกายผู้ตาย โดยมิได้กระทำร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 กระทำโดยลำพังตนเองเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนมีการกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตาย โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ 3 จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานทำร้ายร่างกายไม่ได้ เพราะไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่
โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายเป็นแต่จำเลยที่ 2 ได้ร้องบอกจำเลยที่ 1 ขึ้นว่าพี่พลยิงเลย อันเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 กระทำผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ดังนี้จะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำผิดเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างมากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง
แต่การที่จำเลยที่ 2 ร้องบอกจำเลยที่ 1 ขึ้นว่าพี่พลยิงเลย เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา86 ด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้ (วรรคนี้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2529)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้สมคบร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายนิกร วุฒิเสน โดยเจตนาฆ่า กระสุนถูกด้านหลังฝังในเข้าบริเวณหัวใจนายนิกร วุฒิเสน ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ จำคุกคนละ ๒๐ ปี จำเลยที่ ๓ ที่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ จำคุก ๖ เดือน
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ส่วนจำเลยที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ ให้จำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกา
ในปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานทำร้ายร่างกายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ มิได้กระทำร่วมกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ กระทำโดยลำพังตนเองเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนมีการกระทำผิดฐานฆ่าผู้ตาย โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยที่ ๓ และโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงซึ่งเป็นความผิดที่มีการกระทำอย่างเดียวจึงลงโทษจำเลยที่ ๓ ฐานทำร้ายร่างกายไม่ได้
ในปัญหาว่าจะลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายได้หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ มิได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ยิงผู้ตายเป็นแต่จำเลยที่ ๒ ได้ร้องบอกจำเลยที่ ๑ ขึ้นว่า พี่พลยิงเลย อันเป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ ๑ กระทำผิด เป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ ดังนี้จะลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ ๑ กระทำผิด แต่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญอย่างมาก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ ๒ ร้องบอกจำเลยที่ ๑ ขึ้นว่า พี่พลยิงเลย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ ๑ กระทำความผิด เป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ ด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษได้
อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๓ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อลงโทษตามฟ้องไม่ได้แล้วต้องยกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share