คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมแล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วม เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ที่หลบหนีไปร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังนางสาว…. ผู้เสียหายไว้ที่ห้องพักในโรงแรมชัยวัฒน์ทำให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งไม่ใช่ภรรยาของตนโดยใช้กำลังประทุษร้ายปลุกปล้ำจนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ 1 ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 310

จำเลยให้การปฏิเสธ

ระหว่างพิจารณา นางสาว……….. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 310 วรรคแรก,83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจำคุก 1 ปี และฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 6 ปี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายและฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดสองกรรมต่างกันนั้นเห็นว่า การที่จำเลยหน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ร่วมแล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยความมุ่งหมายที่จะข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า เป็นความผิดสองกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 83การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยมีกำหนด 5 ปี

Share