คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2947/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่1ลูกจ้างจำเลยที่2ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถยนต์ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับส. สามีโจทก์จากจำเลยที่2ซึ่งไม่เข้ากรณีใดในอนุมาตรา1ถึงอนุมาตรา8ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1476วรรคหนึ่งโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามีตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-3851พิษณุโลก จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 3บ-1485กรุงเทพมหานคร ซึ่งใช้ในราชการของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก โดยมุ่งหน้าไปทางอำเภอหล่มสักด้วยความเร็วเมื่อถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 38-39 ซึ่งเป็นทางขึ้นเนินจำเลยที่ 1 ได้ห้ามล้อและหักหลบไปทางขวา เนื่องจากมีกิ่งไม้ขวางช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับมา ทำให้รถยนต์บรรทุกเสียหายหลักลื่นเข้าไปในช่องเดินรถตรงข้าม และชนรถยนต์ของโจทก์ซึ่งแล่นสวนมาจนตกถนนทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย โจทก์ซื้อรถยนต์ดังกล่าวมาในราคา 502,500 บาท ติดเครื่องอุปกรณ์ 35,500 บาท และเครื่องปรับอากาศ 21,000 บาท แต่ขายซากรถยนต์ไปได้ราคา 100,000 บาทราคารถยนต์ขาดไป 402,500 บาท และโจทก์ต้องจ่ายค่ารถลากจูง2,500 บาท และเสียค่าใช้จ่ายในระหว่างไม่ได้ใช้รถยนต์ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 308 วัน วันละ 50 บาท เก็บเงิน 15,400 บาท รวมค่าเสียหาย476,900 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้อง 30,181.88 บาท รวมเป็นเงิน 507,081.88 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 507,081.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 476,900 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้รับความยินยอมจากสามี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 385,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดปัญหาแรกที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าขณะโจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์เป็นหญิงมีสามีและไม่มีหนังสือให้ความยินยอมจากสามีก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 รับว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก-3851 พิษณุโลกตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายสุรศักดิ์ รักษ์สุจิตรักษ์สามีโจทก์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ระบุให้คู่สมรสสามารถจัดการสินสมรส ที่จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก็แต่ในกรณีเป็นการจัดการสินสมรสที่เกี่ยวกับทรัพย์สินตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง ระบุไว้ในอนุมาตรา 1 ถึงอนุมาตรา 8 เท่านั้น ซึ่งเมื่อได้พิจารณาจากคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินสมรสของโจทก์จากจำเลยที่ 2 ไม่เข้ากรณีหนึ่งกรณีใดในอนุมาตรา 1ถึงอนุมาตรา 8 ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวข้างต้นแต่ประการใดและตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวข้างต้นนี้เองในวรรคสองกลับได้ระบุไว้ชัดเจนว่า การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งสามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่าย อันเป็นการยืนยันให้กระทำได้อีกด้วย ฉะนั้นโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากสามี”
พิพากษายืน

Share