คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2124/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นขอให้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาหรืออนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 จะต้องยื่นภายในกำหนดอายุฎีกา
ในชั้นฎีกา ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงดังเช่นในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และกรณีเกี่ยวกับบุคคลผู้มีอำนาจรับรองหรืออนุญาตให้ฎีกานี้มาตรา 248 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่ามีบุคคลใดบ้าง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงคืออธิบดีผู้พิพากษาภาคมาใช้บังคับโดยอนุโลมได้
คำว่า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ตามป.วิ.พ.มาตรา 248 หมายถึง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคด้วย ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์ภาค พ.ศ. 2532 มาตรา 8
ในกรณีผู้ฎีกาขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาครับรองหรืออนุญาตให้ฎีกาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแล้ว ในชั้นฎีกาไม่มีบทบัญญัติโดยตรงในเรื่องนี้ กรณีจึงต้องนำมาตรา 230 วรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 247 กล่าวคือ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา ผู้ฎีกาชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นถึงอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคภายใน 7 วัน เมื่อศาลชั้นต้นได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ศาลชั้นต้นต้องส่งคำร้องนั้นพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค เพื่อมีคำสั่งยืนตามหรือกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นซึ่งก็คือการไม่อนุญาตหรืออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั่นเอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 แต่จำเลยทราบคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2541และยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคอนุญาตให้ฎีกาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม2541 ต้องถือว่าเป็นการยื่นภายในกำหนดเวลา ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งต่อไป มีคำสั่งเสียก่อนมีคำสั่งไม่รับฎีกา การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งประการใดในคำร้องของจำเลยทั้งสองและมิได้ส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมสำนวนคดีนี้ไปยังอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาและมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ชอบ

Share