แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องบรรยายว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับผลิตกระเป๋าหนังเมื่อมีลูกค้าสั่งทำสั่งซื้อ โจทก์ก็จะทำการผลิตตามที่ลูกค้ากำหนดแล้วส่งมอบให้แก่ลูกค้าเมื่อจำเลยในฐานะลูกค้าสั่งให้โจทก์ผลิตกระเป๋าส่งให้ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยต่างมีเจตนาให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์คือกระเป๋าหนังโดยโจทก์ในฐานะผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่จำเลยในฐานะผู้ซื้อและผู้ซื้อตอบแทนด้วยการใช้ราคา อันมีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย มิใช่เป็นสัญญาจ้างทำของ
โจทก์ได้ผลิตกระเป๋าส่งมอบให้แก่จำเลยรับไปครบถ้วนตามข้อตกลงแล้ว แต่จำเลยยังค้างชำระค่ากระเป๋าอยู่อีกร้อยละ 75 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยชำระราคาทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งจำเลยซื้อไปและยังไม่ได้ชำระราคาได้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเจตนาฉ้อโกงโจทก์ก็เป็นการบรรยายฟ้องในลักษณะเล่าเรื่องตามความเข้าใจของโจทก์เองว่าถูกจำเลยหลอกลวงให้ทำกระเป๋าโดยจ่ายเงินเพียงร้อยละ 25 ของราคาทั้งหมด การจะปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าเข้าลักษณะสัญญาหรือละเมิดนั้นเป็นข้อหารือบทเป็นหน้าที่ของศาลที่จะปรับบทกฎหมายเอง แม้จะกล่าวในฟ้องว่าเป็นเรื่องเรียกทรัพย์คืนหรือใช้ราคาก็หาเป็นเรื่องละเมิดเสมอไปไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย และศาลมีอำนาจวินิจฉัยไปตามฟ้องได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นและไม่เกินคำขอ
ในคดีอาญาเรื่องก่อน พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกง และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ฉ้อโกงไป ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง แต่การขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้ผู้เสียหายที่พนักงานอัยการขอมาในคำฟ้องคดีอาญานั้น แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหาย ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ.มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายที่ทำให้เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องในมูลแห่งสัญญาซื้อขายที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะมีการขอคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์กระเป๋าหนังที่จำเลยรับไป แต่ยังค้างชำระราคาแก่โจทก์อยู่ แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิได้เป็นอย่างเดียวกัน เพราะในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งเป็นที่เห็นได้ว่ามาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดอันเกิดจากข้อกล่าวหาว่าฉ้อโกง ส่วนคดีนี้มีที่มาจากมูลหนี้แห่งสัญญาซื้อขาย โดยโจทก์เรียกร้องเอามูลค่าทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยยังค้างชำระราคาอยู่ มิใช่ฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) ทั้งกรณีไม่ใช่เป็นการฟ้องซ้ำ เพราะขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ คดีอาญาเรื่องก่อนดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด