แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมจำหน่ายจ่ายโอนสินสมรสโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือ10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าช่วงเวลานับแต่วันที่เจ้ามรดกซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งโอนที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นสินสมรสระหว่างเจ้ามรดกกับโจทก์ให้แก่ฝ่ายจำเลยจนถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวล่วงพ้นกำหนด10 ปี นับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นสินสมรสดังที่โจทก์กล่าวอ้างสภาพแห่งการเป็นสินสมรสของที่ดินพิพาทย่อมหมดสิ้นไปนับแต่เจ้ามรดกซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมโอนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวที่ดินพิพาทไม่อาจกลับคืนสภาพมาเป็นสินสมรสอันเป็นทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์กับเจ้ามรดกได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2491 โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับขุนวรรณการพินิจ ระหว่างสมรสได้ร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส แต่โฉนดที่ดินลงชื่อขุนวรรณการพินิจเป็นเจ้าของเพียงผู้เดียว วันที่ 4 สิงหาคม 2523 ขุนวรรณการพินิจได้ยกที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หาโดยโจทก์มิได้ยินยอมและวันที่28 พฤษภาคม 2524 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีค่าตอบแทน ดังนั้น นิติกรรมการยกให้จึงสมบูรณ์เฉพาะส่วนของขุนวรรณการพินิจจำเลยทั้งห้าจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกึ่งหนึ่งเท่านั้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งห้า และให้จำเลยทั้งห้าแบ่งบ้านให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามขอให้มีคำสั่งให้ขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ขณะที่ขุนวรรณการพินิจจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ขุนวรรณการพินิจมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนคือ นางเกษมศรี ปัณยวณิช มารดาของจำเลยทั้งห้าตั้งแต่ก่อนปี 2467 โจทก์จึงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของขุนวรรณการพินิจ ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างขุนวรรณการพินิจกับนางเกษมศรีมารดาของจำเลยทั้งห้า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ทำนิติกรรม อีกทั้งจำเลยทั้งห้าได้ครอบครองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์อีกด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขุนวรรณการพินิจกับนางเกษมศรีปัณยวนิช เป็นสามีภรรยากันตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีบุตรด้วยกันคือจำเลยทั้งห้า โจทก์ได้จดทะเบียนสมรสกับขุนวรรณการพินิจเมื่อวันที่ 28พฤษภาคม 2491 ขุนวรรณการพินิจทำนิติกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 45115 แขวงพระโขนง (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมบ้านเลขที่259/131 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ต่อมาวันที่28 พฤษภาคม 2524 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีค่าตอบแทน โจทก์กับขุนวรรณการพินิจได้หย่ากันเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2529 ขุนวรรณการพินิจถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2533 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์อ้างว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินส่วนของโจทก์ครึ่งหนึ่งที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับขุนวรรณการพินิจซึ่งเป็นสามี เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับขุนวรรณการพินิจ การที่ขุนวรรณการพินิจทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทพร้อมบ้านบนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีผลสมบูรณ์เฉพาะส่วนของขุนวรรณการพินิจเท่านั้นไม่มีผลถึงส่วนของโจทก์ ส่วนของโจทก์ยังเป็นของโจทก์อยู่ตามเดิมเพราะโจทก์ไม่ได้รู้เห็นยินยอมนั้น ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 มาตรา 63 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ มาตรา 1476 ได้บัญญัติไว้ว่า “นอกจากสัญญาก่อนสมรสจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นสามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกัน” และมาตรา 1477 บัญญัติว่า “อำนาจจัดการสินสมรสนั้น รวมถึงอำนาจจำหน่าย จำนำ จำนองหรือก่อให้เกิดภาระติดพันซึ่งสินสมรสและอำนาจฟ้องและต่อสู้คดีเกี่ยวแก่สินสมรสนั้นด้วย” ดังนั้น แม้จะฟังว่าโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของขุนวรรณการพินิจและโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมด้วยก็ตาม การที่ขุนวรรณการพินิจทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 จึงถือได้ว่าเป็นการจัดการสินสมรสแต่กระทำไปโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งคือโจทก์ซึ่งเป็นภริยา และมาตรา 1480 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปโดยปราศจากความยินยอมตามวรรคหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต แต่การให้โดยเสน่หาอันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสมาคม คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งนั้นย่อมขอให้ศาลเพิกถอนได้เสมอ” และวรรคสามบัญญัติว่า “ให้นำความในมาตรา 240 มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งมาตรา 240บัญญัติว่า “การเรียกร้องขอเพิกถอนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันเวลาที่เจ้าหนี้ได้รู้ต้นเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้น” ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมานั้น แสดงให้เห็นว่า การที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งทำนิติกรรมจำหน่ายสินสมรสโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้น ๆ ได้ แต่ห้ามมิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือพ้นสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมดังกล่าวกรณีของโจทก์ปรากฏว่า ขุนวรรณการพินิจได้ทำนิติกรรมจำหน่ายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่4 ธันวาคม 2523 โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 จึงล่วงพ้นกำหนดสิบปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมนั้นแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ส่วนข้อที่โจทก์อ้างว่าขุนวรรณการพินิจหย่ากับโจทก์เมื่อปี 2529 ที่ดินพิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมนั้น เห็นว่าที่ดินพิพาทหากจะเป็นสินสมรสดังที่โจทก์กล่าวอ้างสินสมรสนั้นย่อมหมดสิ้นไปตั้งแต่ขุนวรรณการพินิจทำนิติกรรมโอนให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว เมื่อศาลยังมิได้เพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นสินสมรสก็ย่อมไม่อาจอ้างได้ว่าที่ดินพิพาทยังเป็นสินสมรสอยู่ ดังนั้นในขณะที่ขุนวรรณการพินิจกับโจทก์หย่ากันเมื่อปี 2529 จึงถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมระหว่างโจทก์กับขุนวรรณการพินิจ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน