คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6484/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนสัญญายกให้ระหว่างโจทก์กับ พ.และพ. ได้ขายและโอนให้จำเลยที่ 1ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนโจทก์ล้มละลาย ถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นลูกหนี้ผู้ล้มละลายเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะ และเป็นการกระทำในฐานะแทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายไม่ใช่กระทำแทนโจทก์ซึ่งเป็นจำเลย หรือลูกหนี้ผู้ล้มละลาย และการที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนการโอนนั้นก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เช่นกัน เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ถอนคำขอรับชำระหนี้ และศาลมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว ดังนี้ อำนาจที่จะบังคับคดีต่อไปของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงหมดไป โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยลูกหนี้ในคดีล้มละลายไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีล้มละลาย เพราะมิฉะนั้นเท่ากับโจทก์เป็นผู้ทำการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งหมดอำนาจไปแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับนางพรพิมล เจริญธุรยนต์ คนละกึ่งหนึ่งแต่ได้ทำสัญญายกให้นางพรพิมลไปแล้ว ต่อมาโจทก์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.15/18 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ซึ่งได้โอนไปก่อนถูกฟ้องล้มละลายให้กลับสู่ฐานะเดิมหากโอนไม่ได้ให้ชำระราคาเพื่อนำไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนสัญญายกที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างโจทก์ผู้โอนกับนางพรพิมลผู้รับโอน และสัญญาซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนางพรพิมลผู้โอนกับบริษัทจำเลยที่ 1 ผู้รับโอนเฉพาะส่วนกึ่งหนึ่งของโจทก์ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถโอนได้ให้นางพรพิมลและจำเลยที่ 1 ร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 1,250,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ถอนคำขอชำระหนี้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงหมดไป ไม่สามารถเรียกโฉนดที่ดินจากจำเลยที่ 1 ได้ ขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 แขวงสีลม เขตบางรักกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนกึ่งหนึ่งให้โจทก์หากจำเลยไม่ไปทำการโอนให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 2,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่5799 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำเลยที่ 1 ซื้อมาจากนางพรพิมล เจริญธุระยนต์ ซึ่งเป็นหม้ายและเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว โจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงนี้แต่ประการใด จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกที่ดินคืนจากจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอ้างคำพิพากษาในคดีล้มละลายมาบังคับแก่จำเลยที่ 1 เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยกให้ที่ดินพิพาทเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย มิใช่เพิกถอนมาให้โจทก์เมื่อคดีล้มละลายยกเลิกไปแล้ว การเพิกถอนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่ต้องดำเนินการต่อไป หากโจทก์จะเรียกที่ดินคืนโจทก์ชอบที่จะไปฟ้องเรียกที่ดินคืนจากนางพรพิมลไม่ใช่มาฟ้องเรียกจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5799ตามฟ้องโจทก์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนกึ่งหนึ่งให้โจทก์และให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามฟ้องให้โจทก์ได้หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่าโดยผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกา ฉบับลงวันที่ 10 มีนาคม 2525ในคดีล้มละลายที่ ล.15/2518 ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 5799 ตามฟ้องกลับมาเป็นของโจทก์ตามเดิมนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนเพราะที่ดินแปลงดังกล่าวสามารถโอนกลับมาได้ จึงถือว่าเป็นของโจทก์นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เมื่อคดีล้มละลายดังกล่าวยกเลิกโจทก์พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับได้นั้นได้พิเคราะห์คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างตามเอกสารหมาย จ.3 โดยละเอียดแล้ว เห็นว่า คดีดังกล่าว เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสัญญายกให้ระหว่างโจทก์ (คือจำเลยที่ 2 ในคดีล้มละลายซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ 2) กับนางพรพิมล เจริญธุระยนต์ ผู้คัดค้าน และนางพรพิมลได้ขายและโอนให้จำเลยที่ 1 ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนโจทก์ล้มละลาย ถือว่าเป็นการจัดการทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้และเป็นผู้ล้มละลายในอันที่จะต้องจัดการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นำมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำการในฐานะแทนเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลาย ไม่ใช่กระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นจำเลย หรือลูกหนี้ในคดีล้มละลาย คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 ได้เป็นคู่ความในคดีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงดังกล่าวนั้นด้วยก็ตาม ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ฉบับลงวันที่10 มีนาคม 2525 กล่าวคือไม่โอนที่ดินพิพาทเข้าสู่กองทรัพย์สินของลูกหนี้ และให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายถอนคำขอรับชำระหนี้ นั้นเห็นว่า การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกา ดังกล่าวเป็นอำนาจและหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ตามที่ได้วินิจฉัยมาในตอนต้น ทั้งปรากฏว่าคดีล้มละลายนั้น ศาลได้ยกเลิกการล้มละลายโจทก์เป็นผู้หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงหมดอำนาจที่จะดำเนินการต่อไป โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยลูกหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวไม่มีสิทธิที่จะฟ้องจำเลยผู้รับโอนเป็นคดีนี้ เพื่อบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาฎีกาในคดีล้มละลายดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นเท่ากับโจทก์เป็นผู้ทำการแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งหมดอำนาจไปแล้ว โจทก์ไม่อาจดำเนินการได้ ไม่ใช่เรื่องจำเลยมีเจตนาสุจริตหรือไม่สุจริตตามที่โจทก์ฎีกาสรุปแล้วฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share