แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อเกิดเหตุแล้ว ผู้ตายซึ่งถูกยิงที่หน้าท้องได้เดินมาขอความช่วยเหลือจาก ก. ซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 50 เมตร แล้วบอกกับ ก. และ ส. ทันทีว่าจำเลยยิง ถ้อยคำของผู้ตายดังกล่าวเป็นคำบอกกล่าวในทันทีทันใดในเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกับเวลาเกิดเหตุและระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายโดยไม่มีโอกาสที่จะคิดใส่ความบุคคลอื่น และผู้ตายได้กล่าวอีกว่า ช่วยผู้ตายหน่อย พร้อมกับขอปัสสาวะของ ก. ดื่มเพื่อกันเลือดขึ้น ใจของผู้ตายไม่ดีเลยให้รีบไปแจ้งความและรีบเอาหมอมา ถ้อยคำของผู้ตายแสดงถึงความรู้สึกว่าตนจะต้องถึงแก่ความตายแล้ว การที่ผู้ตายบอกกล่าวในขณะที่มีความรู้สึกเช่นนั้นว่า คนร้ายที่ยิงตนคือจำเลยเช่นนี้ ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นความจริงตามคำกล่าวได้.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218,289, 339, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2514) ข้อ 5,14 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6)พ.ศ. 2526 มาตรา 4 คืนวิทยุแก่เจ้าของและริบปลอกกระสุนปืนลูกซองของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 218 (1) 289, 339 วรรคท้าย ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11(พ.ศ. 2514) ข้อ 5, 14, ข้อหาฐานฆ่าผู้อื่นและฐานชิงทรัพย์เป็นกรรมเดียวกัน ให้ลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทหนัก ให้ประหารชีวิต ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นให้จำคุก 12 ปี ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง
โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) กระทงหนึ่ง ลงโทษประหารชีวิตมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 กระทงหนึ่ง จำคุก 1 ปีแต่โจทก์มิได้อุทธรณ์จึงเพิ่มเติมโทษจำเลยมิได้ และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 (1) จำคุก 12 ปี เมื่อวางโทษประหารชีวิตแล้วก็ไม่อาจบังคับโทษจำคุกได้ คงลงโทษประหารชีวิต คืนวิทยุของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2526 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา ได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายจันทร์ จายไทยสงค์ และนางคำมา จายไทยสงค์ จนถึงแก่ความตายและคนร้ายได้วางเพลิงเผาบ้านของผู้ตายทั้งสองจริง ปัญหามีว่า จำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีนายแกง สีดา กับนางสวง กันทะวงศ์ หรือสีดา เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 15 วัน จำเลยมาขอข้าวจากผู้ตายทั้งสองกินแล้วลักเอาพริกและเกลือของผู้ตายทั้งสองไป ต่อมาในวันเกิดเหตุจำเลยได้มาขอข้าวจากนายแกงอีกแต่ข้าวยังไม่สุกจำเลยจึงไปค้นในครัวของผู้ตายทั้งสองแต่นางคำมาผู้ตายไม่ยอมให้ จำเลยจึงออกมาแล้วนายจันทร์ผู้ตายใช้มีดขว้างจำเลย พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมเป็นเหตุให้จำเลยมีความโกรธผู้ตายทั้งสองอยู่ ครั้นเวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยกับพวกพูดขู่พยานโจทก์ทั้งสองว่า ถ้าจำเลยจะฆ่าคนเมืองซึ่งหมายถึงผู้ตายทั้งสองแล้วอย่าไปบอกตำรวจ ถ้าไปบอกตำรวจ จำเลยจะฆ่าพยานทั้งสองและฆ่าโคของพยานด้วย นางแกงก็ไปบอกผู้ตายทั้งสองทันที จนกระทั่งเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พยานโจทก์ทั้งสองได้ยินเสียงปืนดังที่บ้านของผู้ตายทั้งสอง 2นัด และมีไฟไหม้บ้าน นายแกงพยานโจทก์วิ่งไปดูเห็นจำเลยถือปืนยาววิ่งไปมาอยู่ที่หน้าบ้านของผู้ตาย ด้วยแสงไฟที่ไหม้บ้านของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองต่างเคยรู้จักจำเลยมาก่อนและต่างได้เบิกความติดต่อเชื่อมโยงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลย โดยไม่มีข้อพิรุธใดอันพึงสงสัยว่าได้เบิกความโดยมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ตามความเป็นจริง และพยานโจทก์ต่างไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยอันเป็นข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความกลั่นแกล้งจำเลยด้วย ทั้งยังปรากฏตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองอีกว่า เมื่อเกิดเหตุแล้ว นางคำมาซึ่งถูกยิงที่บริเวณหน้าท้องก็ได้เดินมาขอความช่วยเหลือจากนายแกงซึ่งอยู่ห่างกันประมาณ 50เมตรแล้วบอกกับนายแกงและนางสวงทันทีว่ามูซอร์จะก่อยิงเห็นว่าบ้านของผู้ตายกับบ้านของพยานโจทก์ทั้งสองนี้อยู่ใกล้กัน ถ้อยคำของนางคำมาผู้ตายดังกล่าวเป็นคำบอกกล่าวในทันทีทันใดในเวลาใกล้ชิดต่อเนื่องกับเวลาเกิดเหตุ และระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายโดยไม่มีโอกาสที่จะคิดใส่ความบุคคลอื่น โดยไม่ตรงต่อความเป็นจริง พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความต่อไปว่า นางคำมาผู้ตายได้กล่าวอีกว่า ช่วยผู้ตายหน่อย พร้อมกับขอปัสสาวะของนายแกงดื่มเพื่อกันเลือดขึ้นใจของผู้ตายไม่ดีเลย ให้รีบไปแจ้งความและรีบเอาหมอมานายจันทร์ก็ตายไปแล้ว นายแกงจึงปัสสาวะใส่กะลาให้นางคำมาดื่มทันทีถ้อยคำดังกล่าวนี้มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่านางคำมาผู้ตายได้กล่าวเช่นนั้นจริง ถ้อยคำที่นางคำมากล่าวแสดงถึงความรู้สึกว่าตนจะต้องถึงแก่ความตายแล้ว การที่นางคำมาผู้ตายบอกกล่าวในขณะที่มีความรู้สึกเช่นนั้นว่าคนร้ายที่ยิงตนคือจำเลยเช่นนี้ ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นความจริงตามคำกล่าวได้ ต่อมาในวันรุ่งขึ้นเมื่อพันตำรวจโทธงชัย ทิพยมณฑล สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่อาย กับแพทย์ประจำตำบลแม่อายได้ชันสูตรพลิกศพนางคำมาผู้ตายตามรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้องก็ระบุไว้ถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตายว่า ถูกนายจะก่อ มูซอร์ใช้อาวุธปืนยิงและพันตำรวจโทธงชัยได้ออกหมายจับจำเลยไว้และได้ติดตามจับจำเลยได้เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2526 โดยนายแกงพยานโจทก์เป็นผู้นำชี้ให้เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ที่ไร่ของจำเลยและยึดได้วิทยุยี่ห้อธานินทร์ 1 เครื่องจากจำเลย ซึ่งนางสาวนางเสาว์คำ บุตรของนางคำมาผู้ตายยืนยันว่าเป็นของนางสาวนางที่ได้รับเป็นของขวัญจากนายจ้างและได้มอบให้ไว้แก่นางคำมาผู้ตายโดยมีตำหนิเป็นรอยบุบที่ขอบเป็นที่สังเกตด้วยพยานหลักฐานของโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมามีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงดังโจทก์ฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.