คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลย แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 145 , 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีกเว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ การดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่เป็นการไม่ชอบ
ทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะพิเศษ เช่น นาฬิกามีรูปเป็นหัวงู บางชิ้นมีรูปชาวอิสลามอยู่ที่หน้าปัดเป็นของที่มีราคาแพง และไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด จำเลยมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่า จำเลยซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ เป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาด ทั่วไป และในฐานะดังกล่าวจำเลยย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยทราบว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการ ที่จำเลยรับซื้อไว้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๑) (๔) (๗) (๘), ๓๕๗, ๘๓ คืนทรัพย์ ของกลางลำดับที่ ๖๑ ถึง ๗๒ แก่ผู้เสียหาย และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน คิดเป็นเงินจำนวน ๓๑๖,๙๗๑,๙๒๕ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่ในระหว่างสืบพยานจำเลย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขอถอนคำให้การเดิมและ ให้การใหม่เป็นรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจร
ระหว่างพิจารณา เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด บิน อับดุลอาซิซ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคแรก วางโทษ จำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ รับสารภาพก่อนคดีเสร็จการพิจารณา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ให้หนึ่งในสาม คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีกำหนดคนละ ๒ ปี คืนทรัพย์ของกลางลำดับที่ ๖๑ ถึง ๗๒ แก่ผู้เสียหาย สำหรับคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้น เมื่อศาลมิได้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ในฐานความผิดดังกล่าว จึงไม่อาจมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ในส่วนนี้ได้ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๔ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ ๔ ประการแรกว่า การดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๔ เป็นการชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๔ ฎีกาในข้อ ๒.๒ ว่า เดิมได้มีการสอบสวนและยุติไปแล้ว แต่ต่อมามีการรื้อฟื้น คดีใหม่โดยไม่มีหลักฐานใหม่ที่จะชี้ความผิดของจำเลยที่ ๔ แต่อาศัยพยานเดิมที่กลับคำให้การเพื่อมุ่งประสงค์ให้จำเลยที่ ๔ มีความผิดนั้น ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของพลตำรวจโทธนู หอมหวล พยานโจทก์และโจทก์ร่วมว่า พลตำรวจโทธนูเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนทำหน้าที่รื้อฟื้นคดีนี้ สืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนที่มีพลตำรวจโทชลอเป็นหัวหน้าชุดดำเนินคดีแก่นายเกรียงไกร เพียงคนเดียว หลังจากดำเนินคดีแก่นายเกรียงไกรจนคดีถึงที่สุดแล้ว พนักงานอัยการได้มีหนังสือแจ้งกองปราบปราม ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ด้วย แต่เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามไม่ดำเนินการตามหนังสือของพนักงานอัยการและได้มีหนังสือหารือไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ในระหว่างนั้นเองพลตำรวจโทชลอได้เดินทางไปประเทศ ซาอุดีอาระเบียเพื่อนำของกลางบางส่วนไปคืนแก่โจทก์ร่วม แต่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียแจ้งว่าของกลางที่คืนให้ มีเพียงร้อยละ ๒๐ ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกโจรกรรมไปและของกลางบางส่วนเป็นของปลอม หลังจากนั้น กรมตำรวจจึงมีคำสั่งแต่งตั้งพลตำรวจโทธนูเป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนในการรื้อฟื้นคดีนี้ และต่อมา กรมตำรวจได้ตอบข้อหารือพนักงานสอบสวนกองปราบปรามให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕, ๑๔๖ ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา ๑๔๗ ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับ บุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีกเว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหา นั้นได้ การดำเนินคดีแก่จำเลยที่ ๔ จึงไม่เป็นการไม่ชอบดังที่จำเลยที่ ๔ ฎีกา…
ปัญหาว่าจำเลยที่ ๔ รู้หรือไม่ว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ในข้อนี้พันตำรวจเอกประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความยืนยันเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ นี้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีลักษณะพิเศษ เช่น นาฬิกามีรูปเป็นหัวงู บางชิ้น มีรูปชาวอิสลามอยู่ที่หน้าปัดเป็นของที่มีราคาแพงและไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๔ มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าตามเอกสารหมาย ล. ๒๓ จำเลยที่ ๔ ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ มาจากจำเลยที่ ๓ เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ ๔ ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ เป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไปดังที่พันตำรวจเอกประเสริฐเบิกความ และในฐานะดังกล่าวจำเลยที่ ๔ ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ ๔ ทราบว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง ๑๖ รายการ ที่จำเลยที่ ๔ รับซื้อไว้จากจำเลยที่ ๓ เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ ๔ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share