แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำแทนราคาทรัพย์,ความรับผิดชอบของจำเลยที่ต้องคำพิพากษา
ย่อยาว
เดิมศาลตัดสินลงโทษ ม.แล ป.ฐานฉ้อทรัพย์แลให้ช่วยกันใช้ทรัพย์ ๗๐๐ บาท ถ้าไม่มีใช้ให้จำแทน คดีถึงที่สุดจำเลยไม่ใช้เงิน โจทย์ยึดทรัพย์ของม.คนเดียว มีผู้ร้องขัดทรัพย์ โจทย์ต้องว่าความกับผู้ร้องขัดทรัพย์ถึง ๒ ปีเศษ ในที่สุดมีผู้นำเงินมาใช้แทน ม. ศาลจึงสั่งถอนการยึดทรัพย์ระหว่างคดียึดทรัพย์ ป.ต้องจำคุกครบกำหนดโทษอาญาแล้ว ยอมจำไถ่โทษอีก ๓๕๐ วัน ส่วนม. ต้องจำคุกแต่โทษอาญาอย่างเดียวยังไม่ต้องจำไถ่โทษแทนสินไหม เพราะโจทย์ยังยึดทรัพย์อยู่ เมื่อคดียึดทรัพย์ถึงที่สุดแล้ว ม.จึงร้องว่า ป.ต้องจำไถ่โทษวันละ ๑ บาท ๓๕๐ วันแทนเงินที่จะต้องใช้แล้วขอให้ศาลหักเงินที่โจทย์ไว้ ๗๐๐ บาท
ศาลเดิมสั่งให้ ม.รับผิดชอบเต็ม ๗๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษให้หักเงินที่ ป. ต้องจำออกจากเงิน ๗๐๐ บาท
ศาลฎีกาปฤกษาว่า ศาลได้พิพากษาให้ม. ป. ช่วยกันใช้เงิน ๗๐๐ บาท ให้โจทย์โดยมิได้แบ่งจำนวนเงินให้คนใดใช้เท่าใด ตามกฏหมายลักษณอาญามาตรา ๙๓ จำเลยจะต้องรับผิดชอบต่างกันแลแทนกันใช้ราคาทรัพย์ให้โจทย์จนเต็ม ๗๐๐ บาท เพราะฉนั้นแม้ ป.จะต้องจำไถ่โทษแทนเงินสินไหมไปแล้วก็ดี ก็เปนแต่เพียงว่า ป.พ้นจากความรับผิดชอบในส่วนตัว แต่หาเปนเหตุปลดความรับผิดชอบของม. ซึ่งยังมิได้จำไถ่โทษแทนไม่ อนึ่งตามมาตรา ๑๙ ให้คิดหักลดเงินวันละ ๑ บาท ตามรายวันวันที่จำคุกมาแล้วนั้น ท่านหมายความว่าจำเลยคนที่ต้องจำมาแล้วบ้างมีเงินมาเสีย จึงให้หักค่าที่ต้องจำมาวันละ ๑ บาท เปนอัตรา ไม่ใช่เอาเงินมาใช้ไถ่แทนโทษจำวันละ ๑ บาท เมื่อจะใช้ต้องใช้ตามความรับผิดชอบที่ยังคงมีอยู่ในเวลานั้น เรื่องนี้โจทย์ยังไม่ได้รับเงิน ม.จึงคงมีน่าที่ต้องรับผิดชอบเต็มจำนวนเงิน ๗๐๐ บาท ศาลเดิมสั่งชอบแล้ว ให้บังคับตามนั้น