คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ผู้รับโอนสิทธิการเช่า จากเจ้าของเดิม ยังไม่เคยเข้าครอบครองตึกแถวพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เช่า เลย แต่จำเลยผู้ครอบครองตึกแถวพิพาทได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จะยอมออกจากตึกแถวพิพาทภายในเวลาที่กำหนด เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ยอมออกจึงเป็นฝ่ายผิดนัดโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญานั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากตึกแถวของโจทก์ และส่งมอบคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 79,333.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายเดือนละ20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบตึกแถวเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของตึกแถวพิพาทหากจะมีค่าเสียหายก็เพียงเดือนละ 180 บาท เพราะจำเลยออกค่าตกแต่งตึกแถวไปเป็นเงิน 20,000 บาท และประกอบการค้ามาเป็นเวลานาน ขอให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 20,000 บาท และค่าตกแต่งตึกแถวพิพาท 20,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษา ไม่รับฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมและพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกจากตึกแถวพิพาท และส่งมอบตึกแถวพิพาทในสภาพเรียบร้อย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันผิดนัด (21 กุมภาพันธ์ 2525) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบตึกแถวพิพาทแก่โจทก์
โจทก์ จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองตึกแถวพิพาทมาก่อน ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้เข้าครอบครองหรือเข้าไปอยู่ในตึกแถวพิพาทเลขนับแต่โจทก์ได้จดทะเบียนการเช่าจากนายมาโนชญ์ ธีรอัครวิภาส เพราะจำเลยไม่ยอมขนทรัพย์สินออกไปจึงยอมให้จำเลยอาศัยต่อมา โจทก์และนางสาวเซี่ยมไน้แซ่เฮง น้องโจทก์เบิกความตรงกันว่า โจทก์ได้บอกให้จำเลยออกจากตึกแถวพิพาท ครั้งสุดท้ายจำเลยขออยู่ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2525จำเลยจะขนย้ายออกไปจากตึกแถวพิพาท โดยจำเลยกับนางสาวเซี่ยมไน้ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ไปทำบันทึกข้อตกลงกันที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2524 ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นสัญญาอย่างหนึ่ง โจทก์จำเลยจึงเป็นคู่สัญญากันตามเอกสารหมาย จ.2 จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อสัญญาที่ทำไว้ดังกล่าว เมื่อถึงกำหนดวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2525 จำเลยไม่ยอมขนย้ายออกไปจากตึกแถวพิพาท จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัด โจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวอีก โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากตึกแถวพิพาทได้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ที่จำเลยอ้างว่าทำสัญญาเอกสารหมาย จ.2 เพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆะนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ยังมีบุคคลอื่นอีก 2 คน ที่ยินยอมออกไปจากตึกแถวห้องอื่นที่โจทก์เช่ามา และผู้ทำสัญญาให้ก็เป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยถูกข่มขู่ สัญญาดังกล่าวจึงมีผลบังคับจำเลยได้ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา เอกสารหมาย จ.2คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อที่ 2 ว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปโดยไม่รอฟังผลคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งศาลที่ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยไม่ชอบนั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลชั้นต้นต้องรอฟังผลคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีที่จำเลยฎีกาคำสั่ง ขอให้รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งปรากฏว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 157/2527 ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องนี้ จึงชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อที่ 3 ว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานที่เหลือของจำเลย เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าจำเลยแถลงรับรองในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 ตุลาคม 2526 ว่านัดหน้าจะเตรียมพยานมาศาลให้พร้อม หากไม่มีพยานมาศาลถือว่าไม่ติดใจสืบ หรือมีพยานมาเพียงใดก็ขอสืบพยานเพียงนั้น ศาลชั้นต้นให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2526 เวลา 13.30นาฬิกา ซึ่งในวันนัดดังกล่าวศาลจะปฏิบัติตามคำรับรองของจำเลยโดยเคร่งครัด ครั้นถึงวันนัดที่ 7 พฤศจิกายน 2526 เวลา 13.45 นาฬิกาจำเลยขอเลื่อนคดีและไม่มีพยานมาศาล ไม่ขอหมายเรียกพยานไว้ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนและสั่งงดสืบพยานที่เหลือ ถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบ จึงชอบแล้ว ส่วนฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่เสียหาย หากเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 300 บาท และที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์เสียหายเดือนละ 20,000 บาทนั้น เห็นว่า โจทก์เช่าตึกแถวพิพาทมาในอัตราค่าเช่าเดือนละ 180 บาท ที่โจทก์อ้างว่าได้เสียเงินกินเปล่าให้เจ้าของตึกแถวพิพาทถึง 500,000 บาท เป็นการอ้างลอย ๆไม่มีหลักฐานการรับเงินดังกล่าวมาแสดง ที่โจทก์อ้างว่าหากเข้าอยู่เองจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 25,000 บาท หรือให้คนอื่นเช่า ก็จะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท นั้นก็กล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ได้ความว่าจะทำการค้าอะไรจึงจะได้กำไรตามที่อ้าง หรือจะให้ใครเช่าซึ่งจะให้ค่าเช่าตามที่โจทก์อ้าง จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือได้ ส่วนฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่เสียหายนั้นก็เห็นว่า เมื่อจำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทไม่ยอมออกไปตามกำหนด โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย ไม่อาจเข้าอยู่เอง หรือให้บุคคลอื่นเช่าได้ที่ว่าถ้าเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 300 บาท ก็เห็นว่า ตึกแถวพิพาทสามารถประกอบการค้าได้ ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เดือนละ 2,000บาท เหมาะสมแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์จำเลยฟังไม่ขึ้นทั้งสองฝ่าย”
พิพากษายืน.

Share