แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อศาลพิพากษาให้เงินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน แม้จะถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ตามคำร้องของผู้ร้องและคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินโดยตรงอันเป็นผลตามกฎหมาย และมิใช่กรณีบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง แผ่นดินมิได้มีฐานะเป็นบุคคลที่มีมูลหนี้เหนือผู้คัดค้านในเงินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติอันที่จะเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 เพื่อจะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติและตกเป็นของแผ่นดินได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติของผู้คัดค้านจำนวน 49,000,000 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 (2) ให้ผู้คัดค้านส่งมอบเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงินจำนวน 49,000,000 บาท หรือเอกสารที่เกี่ยวกับการรับช่วงทรัพย์ของเงินดังกล่าวพร้อมกับให้โอนกรรมสิทธิ์หรือชำระเงินจำนวน 49,000,000 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นแก่แผ่นดินโดยกระทรวงการคลัง หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา หากผู้คัดค้านไม่สามารถโอนทรัพย์สินให้แก่แผ่นดินไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้ผู้คัดค้านชดใช้เงินจำนวน 49,000,000 บาท หรือให้โอนทรัพย์สินอื่นของผู้คัดค้านตามสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินแก่แผ่นดินจนครบ หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงินจำนวน 49,000,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าผู้คัดค้านจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่แผ่นดินจนเสร็จสิ้น
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินจำนวน 49,000,000 บาท ของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เงินจำนวน 44,000,000 บาท ของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า ระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคม 2535 ถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2539 ผู้คัดค้านดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมธนารักษ์ รัฐบาลโดยกรุงเทพมหานคร ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเพื่อจัดสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า กระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาดำเนินการพัฒนาที่ราชพัสดุ บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2536 โดยมีผู้คัดค้านเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะทำงานดังกล่าวเสนอให้นำที่ดินที่ราชพัสดุด้านหน้าของสถานีขนส่งหมอชิตมาจัดหาผลประโยชน์ เพื่อนำไปชดเชยการก่อสร้างอาคารโรงจอดและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า โดยหาผู้ลงทุนมาดำเนินการในวงเงิน 2,505,000,000 บาท คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอคณะทำงานกรมธนารักษ์แต่งตั้งคณะกรรมการชี้แจงรายละเอียดโครงการ คณะกรรมการรับเงินและเปิดซองประมูล และคณะกรรมการพิจารณาผลการประมูล โดยมีผู้คัดค้านเป็นประธาน หลังจากประกาศประมูล มีผู้เข้ายื่นซองประมูล 3 ราย คือ บริษัทไทยฟากรุ๊ป จำกัด บริษัทธนายง จำกัด และบริษัทซันเอสเตท จำกัด ต่อมาปลัดกระทรวงการคลังมีหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุอยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เรียกโดยย่อว่า พระราชบัญญัติร่วมทุนฯ หรือไม่ โดยผู้คัดค้านพร้อมคณะเป็นผู้แทนไปชี้แจง หลังจากนั้น วันที่ 8 กันยายน 2538 ผู้คัดค้านทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอยกเว้นไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติร่วมทุนฯ บางมาตรา ก่อนที่คณะกรรมการกฤษฎีกาจะแจ้งผลการหารือ วันที่ 11 กันยายน 2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบตามที่ผู้คัดค้านเสนอ วันที่ 12 กันยายน 2538 ปรากฏว่ามีเงิน 10,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้คัดค้านที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ โดยนางดาราวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายเงินเดือนและที่ดินบริษัททานตะวัน จำกัด สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 11 กันยายน 2538 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท จากบัญชีกระแสรายวันของตนที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งผลการหารือว่าการจัดประโยชน์ที่ราชพัสดุหากมีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000,000,000 บาท ขึ้นไป ย่อมอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติร่วมทุนฯ ผู้คัดค้านจึงมีคำสั่งแก้ไขปรับปรุงคณะกรรมการ 3 คณะเดิม เป็นคณะกรรมการดำเนินการประมูลพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต คณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาจัดอันดับผู้ยื่นซองประมูล ปรากฏว่า บริษัทซันเอสเตท จำกัด ได้อันดับที่ 1 ผู้คัดค้านเสนอขอให้กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบผลการประมูลเพื่อให้คณะกรรมการต่อรองกับบริษัทและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีเพื่อรับทราบผลการคัดเลือก วันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ วันที่ 6 ธันวาคม 2538 ผู้คัดค้านรับทราบมติคณะรัฐมนตรีและเชิญบริษัทซันเอสเตท จำกัด มาเจรจา วันที่ 12 ธันวาคม 2538 มีเงิน 4,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้คัดค้าน โดยนางสาวอุษา ผู้จัดการฝ่ายบัญชีรายได้บริษัทซันทาวเวอร์ จำกัด สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 จำนวนเงิน 4,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของตนที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพระราม 9 วันที่ 15 ธันวาคม 2538 มีเงิน 16,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้คัดค้าน โดยนางสาวอุษาสั่งจ่ายเช็ค 4 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 4,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของตนข้างต้น ไปเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์นายราเกซ ที่ปรึกษาของนายเกริกเกียรติ กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ แล้วมีการโอนเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารเดียวกันของนางเยาวลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สำนักบริหารเงินและวิเทศธนกิจของธนาคารดังกล่าว นางเยาวลักษณ์ยังโอนเงินดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของตนอีกบัญชีหนึ่ง แล้วสั่งจ่ายเช็ค 4 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 4,000,000 บาท เข้าบัญชีกระแสรายวันของผู้คัดค้านหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบโครงการตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว วันที่ 8 สิงหาคม 2539 ได้มีการทำสัญญาก่อสร้างและบริหารโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรมธนารักษ์กับบริษัทซันเอสเตท จำกัด ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (คณะกรรมการ ป.ป.ป.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาผู้คัดค้านรับเงินเป็นเช็คจำนวน 16,000,000 บาท จากนายราเกซ คณะกรรมการ ป.ป.ป. รับพิจารณาเป็นเรื่องทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ และเรื่องร่ำรวยผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ป. สอบสวนแล้ว เรื่องทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ มีมติชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยและอาญา สำหรับทางวินัยนั้นกระทรวงการคลังมีคำสั่งไล่ผู้คัดค้านออกจากราชการ ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการ ก.พ. ซึ่งมีมติเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2546 ว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ส่วนทางอาญาพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ระหว่างที่สอบสวนเรื่องร่ำรวยผิดปกติยังไม่เสร็จสิ้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (เดิม) และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาปฏิบัติหน้าที่สืบต่อจากคณะกรรมการ ป.ป.ป. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพยานหลักฐานของอนุกรรมการไต่สวนแล้ว เห็นว่า เงินจำนวน 30,000,000 บาท ที่ผู้คัดค้านรับมาจากนายน้ำ ประธานกลุ่มบริษัททานตะวัน จำกัด เงินจำนวน 14,000,000 บาท ที่ผู้คัดค้านได้จากนายตรีภพ และเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงิน 49,000,000 บาท กับบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) เป็นการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงมีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (เดิม)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อแรกว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่า ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 3 ข้อ 1 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง มีผลให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 329 เป็นอันสิ้นสุดลงไปด้วย ต่อมาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองฯ มีประกาศฉบับที่ 19 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป จึงมีผลเสมือนหนึ่งเป็นการประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่มีบทบัญญัติเหมือนฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกไปทั้งฉบับ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายใหม่นั้นจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ โดยไม่มีผลบังคับย้อนหลัง เมื่อการกระทำความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนวันคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มีประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยความผิดของผู้คัดค้าน มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2549 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ นำพยานหลักฐานจากการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเดิมมาพิจารณาดำเนินการต่อไปได้ ผู้คัดค้านพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2546 แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 เกินกำหนด 1 ปี ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 21 จัตวา นั้น เห็นว่า แม้คณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 3 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (เดิม) จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 329 บัญญัติให้ตราขึ้นใช้บังคับก็ตาม แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็มีฐานะเป็นพระราชบัญญัติฉบับหนึ่งที่มีการประกาศใช้บังคับแยกต่างหากจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อไม่มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับใดออกมาบัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (เดิม) การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงไม่มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด แม้ต่อมาคณะปฏิรูปการปกครองฯ จะออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 และฉบับที่ 31 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไป ก็เป็นเพียงการยืนยันว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ถูกยกเลิกไปเพราะการยึดอำนาจการปกครองประเทศเท่านั้น เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 ข้อ 3 กำหนดบุคคลที่เป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 31 ข้อ 1 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 22 กันยายน 2549 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับการแต่งตั้งตามประกาศฉบับดังกล่าว จึงมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (เดิม) สำหรับกรณีของผู้คัดค้านแม้คณะกรรมการ ป.ป.ป. ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 จะรับเรื่องไว้พิจารณาและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน แต่ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (เดิม) โดยมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 และบัญญัติให้บรรดาเรื่องกล่าวหาร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการได้รับไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และอยู่ระหว่างการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้การดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการที่กระทำมาแล้วเป็นอันใช้ได้ ส่วนการดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด ตามมาตรา 128 วรรคหนึ่ง การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องกล่าวหา ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ และมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยคณะอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้คัดค้านทราบเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547 และต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 19 พิจารณารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ จึงเป็นการดำเนินการไปตามลำดับขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติให้อำนาจหน้าที่ไว้ ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 57 (เดิม) บัญญัติว่า ในระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง หากปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งหรือพ้นจากราชการเพราะเหตุใด ๆ นอกจากถึงแก่ความตาย ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อจะดำเนินคดีอาญา ดำเนินการทางวินัย หรือขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินแล้วแต่กรณี ต่อไปได้ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงไม่จำต้องดำเนินการวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้นั้นพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 21 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลข้อกล่าวหาผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2549 หลังจากผู้คัดค้านเกษียณอายุราชการ พ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 จึงสามารถกระทำได้ การไต่สวนและมีมติว่าผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงชอบด้วยกฎหมาย และผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้อง ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องบรรยายถึงมูลเหตุของการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติ โดยแยกข้อกล่าวหาตามทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ออกเป็น 3 รายการ คือ ข้อกล่าวหาที่ 1 เงินที่ได้จากการขายวัตถุมงคล 30,000,000 บาท ข้อกล่าวหาที่ 2 เงินรายได้จากการขายที่ดิน 14,000,000 บาท และข้อกล่าวหาที่ 3 เงินฝากในสถาบันการเงินอื่น 49,000,000 บาท โดยผู้ร้องบรรยายว่า ผู้คัดค้านไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ และขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้าน 49,000,000 บาท พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน อันเป็นการบรรยายแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 วรรคสาม (เดิม) แล้ว ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ทรัพย์สินจำนวน 49,000,000 บาท ที่ผู้ร้องมีคำขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน คำร้องไม่บรรยายชัดเจนว่ามีที่มาจากทรัพย์สินใดบ้างและเป็นจำนวนเท่าใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งผู้ร้องสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เช่นนี้คำร้องของผู้ร้องจึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านข้อต่อไปว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นเคยวินิจฉัยว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความและมีคำพิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ และมีคำพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วมีคำสั่งใหม่ ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน ดังนั้น ประเด็นเรื่องคดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่นั้นจึงยุติไปแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอีก
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านข้อต่อไปว่า ทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 81 วรรคสอง (เดิม) บัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหามีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งทรัพย์สินตามคำร้องจำนวน 49,000,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่นั้น จะได้แยกพิจารณาดังนี้
เงินจำนวน 30,000,000 บาท ซึ่งผู้คัดค้านอ้างว่าได้มาจากการขายวัตถุมงคล โดยมีผู้คัดค้านและนายอุทัย เป็นพยานเบิกความว่า ขณะนั้นนายอุทัยซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของบริษัทซันเอสเตท จำกัด ทราบว่าผู้คัดค้านชอบสะสมของเก่ามีมีดโบราณและเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 5 เจ้านายเก่าของนายอุทัยซึ่งเป็นชาวฮ่องกงชอบสะสมของเก่าและต้องการซื้อเหรียญ นายอุทัยจึงติดต่อผู้คัดค้านผ่านนายน้ำ ประธานบริษัทในเครือของบริษัทซันเอสเตท จำกัด เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2538 นายอุทัยไปพบและผู้คัดค้านนำเหรียญที่ระลึกมาให้ดูเป็นเหรียญกษาปณ์รัชกาลที่ 5 หรือเหรียญหนวด 1 ชุด ประกอบด้วยเหรียญทองคำและเหรียญเงินพร้อมกล่องบรรจุเหรียญเสด็จประพาสยุโรปทองคำพร้อมห่วง 1 เหรียญ แผ่นเงินงานพระบรมศพพร้อมเหรียญกษาปณ์หรือเหรียญหนวด 1 แผ่น เหรียญชุดงานสมโภชเมื่อเสด็จกลับจากยุโรป 5 เหรียญ ผู้คัดค้านบอกขาย 10,000,000 บาท นายอุทัยขอยืมเหรียญดังกล่าวกลับไปบริษัททานตะวัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกับบริษัทซันเอสเตท จำกัด นายน้ำมาดูและต้องการซื้อเหรียญที่ระลึกดังกล่าวไว้เองโดยไม่ต้องการให้ผู้อื่นทราบ นายอุทัยจึงให้นางดาราวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายเงินเดือนและที่ดินบริษัททานตะวัน จำกัด เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า แล้วออกเช็ค 10,000,000 บาท ให้ผู้คัดค้านชำระค่าเหรียญที่ระลึก ประมาณเดือนธันวาคม 2538 นายน้ำให้นายอุทัยสอบถามผู้คัดค้านว่ามีเหรียญที่ระลึกอื่นอีกหรือไม่ ผู้คัดค้านนำเหรียญเสด็จประพาสยุโรปชุดใหญ่ เป็นเหรียญทองคำ เหรียญเงินและเหรียญทองแดงอยู่ในกล่องรูปพระเกี้ยว เหรียญชุดปราบฮ่อเป็นเหรียญทองคำ เหรียญเงินและเหรียญทองแดง และบอกว่ามีราคาแพง 20,000,000 บาท ซึ่งหาไม่ได้แล้วยังไม่ขาย นายอุทัยนำเหรียญไปให้นายน้ำดูและภายหลังนายน้ำตกลงซื้อในราคา 20,000,000 บาท นายอุทัยให้นางสาวอุษา ผู้จัดการฝ่ายบัญชีรายได้ของบริษัทซันทาวเวอร์ จำกัด เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระราม 9 แล้วสั่งจ่ายเช็ค 5 ฉบับ ฉบับละ 4,000,000 บาท มอบให้ผู้คัดค้าน ซึ่งการซื้อเหรียญที่ระลึกทั้งสองครั้ง นายอุทัยบอกผู้คัดค้านว่าซื้อให้แก่เจ้านายเก่าซึ่งเป็นชาวฮ่องกง เห็นว่า ผู้คัดค้านไม่ได้นำสืบถึงที่มาของเหรียญที่ระลึกดังกล่าว คงได้ความจากคำให้การของผู้คัดค้านซึ่งให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนว่า นายสุโข เป็นผู้ขายเหรียญที่ระลึกให้แก่ผู้คัดค้าน นายสุโขให้การว่าเป็นผู้สะสมพระเครื่อง วัตถุมงคลต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เป็นวัตถุมงคลของรัชกาลที่ 5 จะเป็นพระบรมรูป เหรียญที่ระลึก เหรียญบำเหน็จ สะสมมานานไม่น้อยกว่า 20 ถึง 35 ปี และจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับนักสะสมด้วยกันโดยเฉพาะผู้คัดค้าน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ่อยครั้ง เริ่มซื้อขายเมื่อปี 2535 ส่วนผู้คัดค้านให้การว่าเหรียญที่ระลึกที่ขายไปผู้คัดค้านได้มาจากการสะสมมาเป็นระยะเวลา 10 ปี โดยได้มาจากบุคคลที่เชื่อถือได้ซึ่งบุคคลเหล่านั้นได้รับตกทอดมาทางมรดก บุคคลเหล่านั้นไม่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อเพราะจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล เช่นนี้คำให้การของผู้คัดค้านจึงขัดกับคำให้การของนายสุโขในสาระสำคัญคือระยะเวลาที่ผู้คัดค้านได้เหรียญมาและบุคคลที่เป็นเจ้าของเดิม อีกทั้งที่ผู้คัดค้านอ้างว่าไม่สามารถเปิดเผยชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของเดิมได้ก็เป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ ส่วนการซื้อขายซึ่งนายอุทัยอ้างว่าเป็นการติดต่อซื้อเหรียญที่ระลึกให้แก่เจ้านายเก่าชาวฮ่องกงนั้น ก็เป็นการกล่าวอ้างได้โดยง่าย ผู้คัดค้านเองก็ไม่ได้อ้างเจ้านายเก่าชาวฮ่องกงของนายอุทัยหรือพยายามติดตามตัวบุคคลดังกล่าวมาเป็นพยาน แต่ปรากฏว่าผู้ซื้อเหรียญที่ระลึกทั้งสองครั้งคือนายน้ำ นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนางนันทนา ภริยานายน้ำซึ่งเป็นพยานผู้ร้องว่า ปกตินายน้ำไม่ใช่คนสะสมเหรียญ การที่นายน้ำต้องการซื้อเหรียญที่ระลึกทั้งสองครั้งซึ่งมีราคาสูงถึง 30,000,000 บาท จึงเป็นข้อพิรุธ ทั้งข้ออ้างที่ว่านายน้ำไม่ต้องการให้ใครทราบว่าตนเป็นผู้ซื้อเหรียญที่ระลึกนั้น ก็ได้ความว่านายอุทัยเป็นผู้ดำเนินการชำระเงินค่าเหรียญที่ระลึกโดยมีการสั่งจ่ายเช็คจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของนางดาราวรรณและนางสาวอุษาที่นายอุทัยเป็นผู้เปิดบัญชีเงินฝาก รวมทั้งดำเนินการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ไม่น่าเชื่อว่านายน้ำจะไม่ทราบเรื่องที่นายอุทัยดำเนินการไปทั้งหมด ข้ออ้างของนายน้ำที่ปกปิดไม่ต้องการให้ใครทราบว่าตนซื้อเหรียญที่ระลึกก็ปราศจากเหตุผลที่สมควรว่า เหตุใดนายน้ำจึงต้องปกปิด ปกปิดไปเพื่อประโยชน์อันใด และปกปิดเพื่อใคร พฤติการณ์ของผู้คัดค้านและนายน้ำจึงไม่อาจเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่าผู้คัดค้านต้องการปกปิดที่มาของเส้นทางการเงินที่แท้จริงโดยเฉพาะการชำระเงินค่าเหรียญที่ระลึกนั้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบข้อเสนอของผู้คัดค้านและวันที่คณะรัฐมนตรีรับทราบถึงผลการประชุม โดยในครั้งแรกสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 11 กันยายน 2538 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท มีการนำเข้าเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 ตามบัญชีกระแสรายวันของนางดาราวรรณ อันเป็นวันหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบตามที่ผู้คัดค้านขอความเห็นชอบให้โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตที่ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติร่วมทุนฯ บางมาตรา เพียง 1 วัน ส่วนการชำระค่าเหรียญครั้งที่ 2 นางสาวอุษาสั่งจ่ายเช็ครวม 5 ฉบับ ฉบับละ 4,000,000 บาท เป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพระราม 9 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 จำนวน 2 ฉบับ และลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 จำนวน 3 ฉบับ และมีการนำเช็คฉบับลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2538 หนึ่งฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านเพื่อเรียกเก็บเงินที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 ส่วนเช็คอีก 4 ฉบับ กลับมีการนำไปเข้าเรียกเก็บเงินในบัญชีเงินฝากของนายราเกซ ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) แล้วมีการสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน 4 ฉบับ โดยนางเยาวลักษณ์ รองผู้อำนวยการฝ่าย สำนักบริหารเงินและวิเทศธนกิจ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ พยานผู้ร้องเบิกความยืนยันว่า นายราเกซให้พยานสั่งจ่ายเช็ค 4 ฉบับ โดยนายราเกซบอกว่าผู้คัดค้านจะนำเช็ค 4 ฉบับ มาแลก ซึ่งเช็คที่ผู้คัดค้านนำมาแลกนั้นล้วนเป็นเช็คจ่ายเงินสด สามารถเรียกเก็บเงินได้ทันที จึงไม่มีความจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเช็ค อีกทั้งการเรียกเก็บเงินตามเช็คจากการซื้อขายเหรียญที่ระลึกครั้งที่ 2 นั้น มีการเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับแรกเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2538 หลังจากที่นายอุทัยทราบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบว่าบริษัทซันเอสเตท จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2538 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการเรียกเก็บเงินตามเช็คทั้งสองครั้ง มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับวันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบข้อเสนอของผู้คัดค้านและวันที่คณะรัฐมนตรีรับทราบถึงผลการประมูล พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาไม่อาจรับฟังได้ว่าเงินจำนวน 30,000,000 บาท เป็นเงินที่ได้มาจากการขายเหรียญที่ระลึก ดังนั้นการที่ผู้คัดค้านมีเงินจำนวน 30,000,000 บาท จึงเป็นการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนเงินจำนวน 14,000,000 บาท ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าได้มาจากการขายที่ดินของนางอุบล ภริยาผู้คัดค้าน ให้แก่นายตรีภพ ผู้คัดค้านนำสืบโดยมีผู้คัดค้านและนายตรีภพเป็นพยานเบิกความว่า นายตรีภพเป็นสถาปนิก รู้จักผู้คัดค้านมาตั้งแต่ปี 2530 สนใจจะซื้อที่ดิน 3 แปลงของนางอุบลเพื่อทำโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก จึงติดต่อขอซื้อที่ดินผ่านผู้คัดค้านและทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2539 เป็นเงิน 24,045,000 บาท มีการวางมัดจำ 5,000,000 บาท ในวันทำสัญญา ส่วนค่าที่ดินที่เหลือแบ่งชำระเป็น 3 งวด หากผู้จะซื้อผิดนัดชำระค่าที่ดินงวดหนึ่งงวดใด ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งนายตรีภพเป็นผู้จัดทำสัญญาจะซื้อจะขายเอง ต่อมานายตรีภพจัดทำแบบแปลนโครงการเบื้องต้นเพื่อเสนอสถาบันการเงิน แต่การติดต่อสถาบันการเงินไม่ราบรื่น ประกอบกับหุ้นส่วนขอถอนตัว นายตรีภพขอเงินมัดจำคืนแต่ฝ่ายผู้คัดค้านไม่ยินยอม นายตรีภพจึงขอลดจำนวนที่ดินที่จะซื้อเหลือเพียง 2 แปลง พร้อมขอขยายระยะเวลาการชำระเงิน ฝ่ายผู้คัดค้านยินยอมจึงทำบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2539 ว่าที่ดินที่จะซื้อลดลงเหลือ 2 แปลง รวมเป็นเงิน 16,946,000 บาท เมื่อหักเงินมัดจำแล้วคงเหลือราคาที่ดิน 11,946,000 บาท และกำหนดให้มีการแบ่งชำระเป็น 4 งวด ในวันที่ 30 ตุลาคม 2539 วันที่ 30 เมษายน 2540 วันที่ 30 ตุลาคม 2540 งวดละ 3,000,000 บาท และวันที่ 30 เมษายน 2541 จำนวน 2,946,000 บาท หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวนายตรีภพได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านไป 3 งวด งวดละ 3,000,000 บาท โดยชำระเป็นเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม บัญชีเลขที่ 001-3-0xxxx ไปเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ เลขที่ 034 – 1 – 13xxx – x ของผู้คัดค้าน งวดที่ 1 ตกลงชำระวันที่ 30 ตุลาคม 2539 แต่จ่ายเช็คเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2539 งวดที่ 2 ตกลงชำระวันที่ 30 เมษายน 2540 แต่จ่ายเช็คเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 งวดที่ 3 ตกลงชำระวันที่ 30 ตุลาคม 2540 แต่จ่ายเช็คเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2540 งวดที่ 4 ยังไม่ชำระแต่อย่างใด เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย สถาบันการเงินปิดกิจการ นายตรีภพจึงไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้ หากนำที่ดินไปขายก็ไม่มีผู้ซื้อและธนาคารไม่รับจำนอง จึงขอผ่อนผันชำระราคาที่ดินภายในปี 2543 ต่อมาทราบว่าผู้คัดค้านถูกร้องเรียนและถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน จึงขอให้เรื่องยุติก่อน แต่การซื้อขายยังไม่ยกเลิก เห็นว่า เมื่อพิจารณาสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้วมีลักษณะการเขียนข้อกำหนดในสัญญาผิดปกติวิสัยของการทำสัญญาโดยทั่วไป เช่น การชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญาซึ่งมีจำนวนมากถึง 5,000,000 บาท ส่วนราคาที่ดินที่เหลืออีก 3 งวด ไม่มีการชำระตามสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และต่อมาเมื่อมีการทำสัญญากันใหม่วันที่ 30 กันยายน 2539 รวมเป็นเงิน 16,946,000 บาท เมื่อหักเงินมัดจำแล้วคงเหลือราคาที่ดิน 11,946,000 บาท และกำหนดให้มีการแบ่งชำระเป็น 4 งวด ซึ่งนายตรีภพได้ชำระไปแล้วเป็นเงิน 14,000,000 บาท ตามบัญชีกระแสรายวันของนายตรีภพและบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของผู้คัดค้าน ก็ไม่ปรากฏว่ามีการทำหลักฐานการชำระเงินกันแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นเงินจำนวนมาก ส่วนที่นายตรีภพอ้างว่าเงินที่นำมาซื้อที่ดินเป็นเงินค่าจ้างจากการเขียนแบบแปลนบ้านและคอนโดมิเนียมให้นายปานเทพ มีการแบ่งจ่ายเป็นงวด รวมเป็นเงิน 17,000,000 บาท ปรากฏว่าไม่มีหลักฐานการว่าจ้างและรับเงินค่าจ้างแต่อย่างใด นอกจากนี้นายตรีภพชำระราคาที่ดินไปแล้วเป็นจำนวนถึง 14,000,000 บาท คงเหลืออีกเพียง 2,946,000 บาท นายตรีภพน่าจะพยายามขวนขวายหาเงินมาชำระให้จนครบเพื่อดำเนินการโอนที่ดิน แต่คู่สัญญาก็มิได้ดำเนินการใด ๆ ต่อกัน จึงไม่น่าเชื่อว่ามีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินกันจริง พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบมาจึงฟังไม่ได้ว่าเงิน 14,000,000 บาท เป็นทรัพย์ที่มิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
สำหรับเงินฝากในสถาบันการเงินจำนวน 49,000,000 บาท ซึ่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินในนามนางอุบล ภริยาผู้คัดค้าน นางสาวนัทธ์หทัย บุตรสาวผู้คัดค้าน และนางสาวณัทสุดา บุตรสาวผู้คัดค้าน รวม 6 ฉบับ คือ 1. ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0039577 จำนวน 10,000,000 บาท ในนามนางอุบล ถึงกำหนดวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 2. ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019082 จำนวน 5,000,000 บาท ในนามนางสาวนัทธ์หทัย ถึงกำหนดวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 3. ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019088 จำนวน 9,000,000 บาท ในนามนางสาวนัทธ์หทัย ถึงกำหนดวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 4. ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0000032 จำนวน 10,000,000 บาท ในนามนางสาวนัทธ์หทัย ถึงกำหนดวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 5. ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019055 จำนวน 6,000,000 บาท ในนามนางสาวณัทสุดา ถึงกำหนดวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 และ 6. ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019089 จำนวน 9,000,000 บาท ในนามนางสาวณัทสุดา ถึงกำหนดวันที่ 6 พฤษภาคม 2541 โดยผู้ร้องกล่าวหาว่าเงินดังกล่าวซึ่งฝากที่บริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) มาจากเงินที่นายน้ำมอบให้ 30,000,000 บาท และนายตรีภพมอบให้ 14,000,000 บาท นั้น ผู้คัดค้านนำสืบว่า เงินดังกล่าวมิใช่รายได้ใหม่แต่เป็นเงินที่เกิดจากการฝากเงิน ไถ่ถอน ฝากต่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน ที่ผู้คัดค้านและภริยาถืออยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด มาฝากต่อที่บริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) เป็นเงินที่ผู้คัดค้านและภริยาสะสมมาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2540 เป็นเงินฝากที่มีอยู่เดิมมาจากเงินเดือน เบี้ยประชุม โบนัส เงินได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ วัตถุมงคลและที่ดิน รวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก โดยผู้คัดค้านเบิกความถึงที่มาตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0000032 ของบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) จำนวน 10,000,000 บาท ในนามนางสาวนัทธ์หทัย เป็นเงินที่ฝากไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด โดยเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2540 มียอดเงินคงเหลือ 10,000,000 บาท ซึ่งต่อมาได้รับการไถ่ถอนจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หลังจากได้รับการไถ่ถอนแล้ว ได้นำเงินดังกล่าวไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) โดยฝากในนามผู้คัดค้าน คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0478558 ภายหลังฝากในนามของนางสาวนัทธ์หทัย เมื่อพิจารณาแผนผังแสดงการฝาก – ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านแล้ว เห็นว่า ผู้คัดค้านฝากเงินในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินไว้ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2538 คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 120634, 120635, 120636 และ 120637 ฉบับละ 5,000,000 บาท รวม 4 ฉบับ เป็นเงิน 20,000,000 บาท ทั้งได้ความจากผู้คัดค้านเบิกความตอบผู้ร้องถามค้านว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งสี่ฉบับเป็นเงินที่ได้จากการขายเหรียญที่ระลึก มีการฝาก – ถอนเรื่อยมา จนกระทั่งเป็นเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 142683 ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด 10,000,000 บาท ซึ่งต่อมามีการฝาก – ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินในนามผู้คัดค้านเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0478558 แสดงว่าที่มาของตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0000032 ในนามนางสาวนัทธ์หทัย 10,000,000 บาท สืบเนื่องมาจากตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0478558 ในนามผู้คัดค้าน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 จำนวน 10,000,000 บาท โดยมีการนำเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีเลขที่ 034-6-03xxx-x ของผู้คัดค้านมาซื้อ เจือสมกับทางนำสืบของผู้ร้องถึงความเคลื่อนไหวทางบัญชีของผู้คัดค้านที่เกี่ยวข้องกับเงินที่ได้จากการขายเหรียญที่ระลึกว่า ผู้คัดค้านนำเช็คที่อ้างว่าได้มาจากการขายเหรียญที่ระลึก จำนวน 30,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีเลขที่ 034-1-13xxx-x ของผู้คัดค้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2538 มีการถอนเงิน 20,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาประดิพัทธ์ บัญชีเลขที่ 034-6-03xxx-x ของผู้คัดค้าน แล้วในวันเดียวกันได้สั่งจ่ายเช็คไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ในนามผู้คัดค้าน 4 ฉบับ ฉบับละ 5,000,000 บาท ซึ่งก็คือตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 120634, 120635, 120636 และ 120637 จึงเชื่อว่าตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0000032 จำนวน 10,000,000 บาท ในนามของนางสาวนัทธ์หทัยเป็นเงินของผู้คัดค้านที่รับมาจากนายน้ำ ส่วนเงินฝากในนามของนางอุบล จำนวน 39,000,000 บาท ผู้คัดค้านนำสืบว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2539 ถอนมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด 30,000,000 บาท และฝากเพิ่มอีก 6,000,000 บาท สาเหตุที่ถอนเนื่องจากมีข่าวว่าบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ประสบปัญหาและบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า โดยตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไม่สามารถหาเอกสารได้ เนื่องจากบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ล้มละลาย ต่อมาเงินจำนวน 36,000,000 บาท นำกลับไปฝากที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 สาเหตุที่นำกลับไปฝากเนื่องจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด ได้รับการประกันโดยกองทุนฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการฝากเงินไว้ที่บริษัทดังกล่าวอยู่แล้ว 5,000,000 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 136535 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 จึงมีเงินฝากที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยฟูจิ จำกัด รวม 41,000,000 บาท และมีการฝาก – ถอนต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 24 กันยายน 2540 ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอนรวมดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 41,966,000 บาท จากนั้นนำเงิน 41,000,000 บาท ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน 2 ฉบับ คือตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0470828 จำนวน 20,000,000 บาท และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0470879 จำนวน 21,000,000 บาท เมื่อครบกำหนดมีการเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนเรื่อยมา จนสุดท้ายเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0008964 จำนวน 20,000,000 บาท และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0008965 จำนวน 21,000,000 บาท ซึ่งต่อมามีการนำตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0008964 จำนวน 20,000,000 บาท ไปซื้อตั๋วฉบับใหม่เลขที่ 0009908 จำนวน 18,000,000 บาท ในนามนางอุบล และต่อมาเมื่อตั๋วครบกำหนดได้นำไปซื้อตั๋วฉบับใหม่แทนรวม 2 ฉบับ คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019088 ของบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในนามนางสาวนัทธ์หทัย จำนวน 9,000,000 บาท และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019089 ของบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในนามนางสาวณัทสุดา จำนวน 9,000,000 บาท ส่วนตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0008965 จำนวน 21,000,000 บาท ในนามนางอุบลเมื่อครบกำหนดได้นำไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ 3 ฉบับ คือ ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019055 ของบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในนามนางสาวณัทสุดา จำนวน 6,000,000 บาท ตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0019082 ของบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในนามนางสาวนัทธ์หทัย จำนวน 5,000,000 บาท และตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0018954 ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) ในนามนางอุบล จำนวน 10,000,000 บาท สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวในนามของนางอุบลได้มีการเปลี่ยนตั๋วเรื่อยมาจนกระทั่งเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0039577 โดยมีนางธัชนก นางกรรณิการ์ และนายวีระเกียรติ ซึ่งร่วมตรวจสอบและจัดทำเอกสารมาเบิกความยืนยันแผนผังแสดงการฝาก – ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน ว่ามีการฝาก – ถอนตั๋วสัญญาใช้เงิน การเปลี่ยนตั๋วสัญญาใช้เงินมาตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาจนกระทั่งปี 2540 เห็นว่า ผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงว่า เงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นของนางอุบล เป็นเงินของผู้คัดค้านและนางอุบลเก็บสะสมมาตั้งแต่ปี 2533 ถึงปี 2540 ได้มาจากจากเงินเดือน เบี้ยประชุม โบนัส เงินได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ วัตถุมงคลและที่ดิน รวมทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก นอกจากนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้คัดค้านนำสืบว่าเป็นที่มาของตั๋วสัญญาใช้เงินเลขที่ 0039577, 0019082, 0019088, 0019055 และ 0019089 รวม 5 ฉบับ ก็เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ผู้คัดค้านได้มาในช่วงเวลาที่ผู้คัดค้านอ้างว่าได้รับเงินจากการขายเหรียญที่ระลึกและเงินที่ได้จากการขายที่ดิน เมื่อผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ แต่ผู้คัดค้านไม่สามารถนำสืบให้เห็นว่าเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งห้าฉบับ มีแหล่งที่มาจากเงินเดือน เงินโบนัส เบี้ยประชุม หรือเงินประเภทใด หรือได้มาจากแหล่งเงินใดโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อผู้คัดค้านเบิกความรับว่าเงินฝากของผู้คัดค้านและภริยาจะนำมารวมกันทำให้เชื่อได้ว่าเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้าน เมื่อเงินฝากในสถาบันการเงินจำนวน 49,000,000 บาท มีแหล่งที่มาจากเงินที่อ้างว่าได้จากการขายเหรียญที่ระลึก และเงินที่ได้มาจากการขายที่ดิน ซึ่งได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวรวม 44,000,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านมีมากผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ ส่วนเงินที่เหลืออีก 5,000,000 บาท ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องว่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติขอให้ตกเป็นของแผ่นดินด้วย ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่าเงินจำนวนดังกล่าวมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ แต่ผู้คัดค้านไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินส่วนใดของเงินจำนวน 49,000,000 บาท ซึ่งเกลื่อนกลืนไปกับเงินจำนวน 44,000,000 บาท และดอกผลของเงินนั้นว่าเป็นเงินที่ได้มาโดยชอบอย่างไรบ้าง เช่นนี้ถือได้ว่าเงินจำนวน 5,000,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้มาโดยร่ำรวยผิดปกติเช่นกัน ดังนั้นเงินฝากในสถาบันการเงินจำนวน 49,000,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านมีมากผิดปกติหรือมีเพิ่มขึ้นมากผิดปกติอันเป็นการร่ำรวยผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 (เดิม) อันจะต้องตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 80 (2) (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น ส่วนฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อสุดท้ายว่า ผู้ร้องมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของจำนวนเงินตามที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 หรือไม่ นั้น เห็นว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เงินจำนวน 49,000,000 บาท ของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินแม้จะถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้องและคำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินโดยตรงอันเป็นผลตามกฎหมาย และมิใช่กรณีบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง แผ่นดินมิได้มีฐานะเป็นบุคคลที่มีมูลหนี้เหนือผู้คัดค้านในเงินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติอันที่จะเป็นเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เพื่อจะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติและตกเป็นของแผ่นดินได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียม ชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ