คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความสำคัญของคดีแจ้งความเท็จอยู่ที่ว่า จำเลยเห็นเหตุการณ์การกระทำผิดของผู้อื่นตามที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้อื่นกระทำผิดหรือไม่ เพราะแม้ผู้อื่นกระทำผิดจริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นการกระทำผิดแล้วบังอาจให้การว่าเห็น ก็มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ
การที่จำเลยให้การเท็จว่าเห็นเหตุการณ์แล้วขอถอนคำให้การอ้างว่าที่ให้การไว้เพราะได้รับการเสื้ยมสอน จำเลยก็ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา172, 174
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา181(2) ข้อความที่ว่าเป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหา ว่าผู้อื่นกระทำความผิดที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไปนั้น หมายถึง อัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174, 181(1) ให้ลงโทษตาม มาตรา 181(1) ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนจำเลยที่ 2 รับสารภาพชั้นสอบสวน ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2524 เวลากลางคืน มีคนร้ายลักเอาวัว 1 ตัวของจำเลยที่ 1 ไปโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบตัวคนร้าย ครั้นวันที่ 19 กรกฎาคม 2524 จำเลยที่ 1 เข้าแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรีอภิรัฐ สังข์ขาว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวหานายเอิดหรือยานหรือโต๊ะ ขวัญเพชรกับนายฉุ้นเป็นคนร้าย โดยพาจำเลยที่ 2 กับนายมาเส๊าะจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 354/2525 หมายเลขแดงที่ 280/22525 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอ้างว่ารู้เห็นการกระทำผิดไปให้การเป็นพยาน ร้อยตำรวจตรีอภิรัฐสอบสวนจำเลยทั้งสองกับนายมาเส๊าะไว้เป็นพยาน จำเลยที่ 1 ให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 2 ให้การว่าคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กลับจากหาปลา เมื่อมาถึงถนนเห็นนายเอิดหรือนายยานหรือโต๊ะกับพวกอีกคนหนึ่งคนช่วยกันพาวัวไปตามถนน ปรากฏรายละเอียดตามคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมายจ.3 ส่วนนายมาเส๊าะให้การว่าคืนเกิดเหตุขณะที่กลับจากเยี่ยมญาติ ได้เห็นนายฉุ้นกับพวกอีกคนหนึ่งคนพาวัวเดินไปตามถนน เมื่อสอบสวนจำเลยทั้งสองกับนายมาเส๊าะแล้ว ร้อยตำรวจตรีอภิรัฐจับนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะเป็นผู้ต้องหา ต่อมาจำเลยทั้งสองกับนายมาเส๊าะต่างขอถอนคำให้การ และปฏิเสธว่าไม่ได้เห็นเหตุการณ์ตามที่ให้การไว้ ร้อยตำรวจตรีอภิรัฐจึงปล่อยนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะจากการเป็นผู้ต้องหา และดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองและนายมาเส๊าะข้อหาแจ้งความเท็จ

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้จำเลยที่ 1 จะกล่าวหานายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับนายฉุ้นเป็นคนร้ายก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยเล่ารายละเอียดของเหตุการณ์เกิดขึ้นตามลำดับ ที่จำเลยที่ 1 กล่าวหาบุคคลดังกล่าวก็เพราะถือว่ามีจำเลยที่ 2 กับนายมาเส๊าะเป็นประจักษ์พยาน ทั้งตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.4 จำเลยที่ 1 มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเองการที่จำเลยที่ 1 เล่ารายละเอียดตามที่ทราบมาไม่มีข้อความใดผิดจากความจริงคำให้การของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ใช่ความเท็จ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดและไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นเป็นใจในการให้การของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น

สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์นำสืบว่าหลังจากคนร้ายลักวัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เคยขอร้องให้นายยีหมาน หมัดหมัน ติดต่อขอวัวคืนจากนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะ นายยีหมานติดต่อแล้ว แต่นายเอิดหรือยานหรือโต๊ะปฏิเสธว่าไม่ได้ลักวัวของจำเลยที่ 1 นายยีหมานแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ต่อมาจำเลยที่ 1 ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรีอภิรัฐโดยพาจำเลยที่ 2 กับนายมาเส๊าะไปให้การเป็นพยานอ้างว่าเป็นพยานรู้เห็น ร้อยตำรวจตรีอรัฐจึงสอบสวนจำเลยที่ 2 กับนายมาเส๊าะแล้วจับนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะเป็นผู้ต้องหา แต่ในระหว่างการสอบสวน จำเลยทั้งสองกับนายมาเส๊าะขอถอนคำให้การอ้างว่าความจริงไม่เห็นการกระทำผิดของนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวก ร้อยตำรวจตรีอภิรัฐจึงปล่อยนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะและดำเนินคดีข้อหาแจ้งความเท็จแก่จำเลยทั้งสองและนายมาเส๊าะจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.5

จำเลยที่ 2 นำสืบว่า คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กลับจากหาปลาในระหว่างทางเห็นนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวกพาวัวของจำเลยที่ 1 ไปตามถนนจริง ต่อมาหลังจากจำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนแล้วร้อยตำรวจตรีอภิรัฐแจ้งจำเลยที่ 2 ว่า นายเอิดหรือยานหรือโต๊ะไม่ใช่คนร้ายขอให้ถอนคำให้การจำเลยที่ 2 ยินยอมโดยร้อยตำรวจตรีอภิรัฐให้คำรับรองว่าจะไม่เอาผิดแก่จำเลยที่ 2 คดีที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การในชั้นสอบสวนไว้

จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่านายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวกไม่ได้กระทำความผิดและที่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเพราะหลงเชื่อคำของร้อยตำรวจอภิรัฐ ศาลฎีกาเห็นว่า ความสำคัญของคดีแจ้งความเท็จปัญหาอยู่ที่ว่าจำเลยที่ 2 เห็นเหตุการณ์การกระทำผิดของผู้อื่นตามที่ให้การไว้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ว่าคนอื่นได้กระทำผิดหรือไม่ เพราะแม้ว่าคนอื่นได้กระทำผิดจริง แต่ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่เห็นการกระทำผิดแล้วบังอาจให้การว่าเห็น ก็มีความผิดฐานแจ้งความเท็จเช่นกัน สำหรับข้อเท็จจริงเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กลับจากหาปลา เมื่อมาถึงถนนเห็นนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวกอีกคนหนึ่งพาวัวไป เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 เห็นการกระทำของนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวก ครั้นร้อยตำรวจตรีอภิรัฐจับนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะเป็นผู้ต้องหาโดยอาศัยคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 กลับขอถอนคำให้การแล้วปฏิเสธว่าไม่ได้เห็นเหตุการณ์ตามที่ให้การไว้ แสดงว่าที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าเห็นเหตุการณ์ตามที่ให้การไว้นั้นเป็นความเท็จ ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การโดยอ้างว่าที่ให้การเช่นนั้นเพราะได้รับการเสี้ยมสอน ก็เป็นเหตุผลที่น่ารับฟัง มิฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 2 จะเปิดเผยความจริงในภายหลังการที่จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การก็โดยเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 อาจจะไม่มีความผิดไม่ใช่ขอถอนเพราะคำร้องของร้อยตำรวจตรีอภรัฐดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา อีกประการหนึ่งเมื่อเจ้าพนักงานดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ข้อหาแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 2 ก็ให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งเหตุผลตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ระบุรายละเอียดชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 ให้การโดยได้รับคำเสี้ยมสอนจากผู้อื่น มิได้เห็นเหตุการณ์การกระทำผิดของนายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวกข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นความเท็จ จำเลยที่ 2 มีความผิด

อนึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าความผิดของจำเลยที่ 2 ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 181(1) นั้น บัญญัติว่า “เป็นการกระทำในกรณีแห่งข้อหาว่าผู้ใดกระทำความผิดที่มีโทษระวางจำคุกตั้งแต่สามปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษ” นั้น คำว่าตั้งแต่สามปีขึ้นไปหมายถึงอัตราโทษขั้นต่ำตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับข้อหาว่านายเอิดหรือยานหรือโต๊ะกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) (7) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 181(1) ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172, 174 ให้ลงโทษตามมาตรา 174 ซึ่งเป็นบทหนักกำหนดโทษและการลงโทษให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1

Share