คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1258/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ให้คำรับรองแก่โจทก์ว่า ส. มีบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นเสียแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เชื่อคำรับรองนั้นและยอมให้ ส. นำรถยนต์ของโจทก์ไปขาย ต่อมาโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของ ส. เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ปรากฏว่าบัญชีดังกล่าวปิดแล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ยอมให้ ส. ถอนเงินออกจากบัญชีอันเป็นการผิดสัญญาและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า การที่จำเลยทั้งสองให้ ส. ถอนเงินจากบัญชีเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปยังโจทก์ก็เป็นการปฏิบัติงานตามปกติของจำเลยที่ 2 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือต้องร่วมรับผิดในมูลละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองยอดเงินฝากของ ส. ไปถึงโจทก์ เป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปถึงโจทก์ยืนยันว่า ส. มีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 ซึ่งมียอดเงินฝากในขณะนั้น 3,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ คำรับรองนี้มีลักษณะเป็นคำมั่นซึ่งมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำมั่นดังกล่าว โดยหลังจากที่โจทก์ได้รับหนังสือรับรองดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงยอมให้ ส. รับรถยนต์จากโจทก์ไปจำหน่ายได้ อันพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้เสนอ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคสองอีก จำเลยที่ 2 ต้องถูกผูกพันตามคำมั่นที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้ ส. เปลี่ยนบัญชีเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์พิเศษเป็นบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาและยอมให้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามคำมั่นอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ถอนเงินจากบัญชีของ ส. โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากเงินในบัญชีที่ ส. ฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,197,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,599,110.95 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 เมษายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการธนาคาร สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 2 อยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่มีสาขาอยู่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2539 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 2 สาขาสระบุรี ได้ออกหนังสือของจำเลยที่ 2 ไปยังโจทก์รับรองว่านางสำรวย มีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปจนกว่าจะได้รับความยินยอมจากโจทก์ ให้ถอนการอายัดบัญชีดังกล่าว หลังจากนั้นนางสำรวยรับรถยนต์จากโจทก์ไปจำหน่ายและเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คหลายฉบับ รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท โจทก์ได้ฟ้องนางสำรวยต่อศาลจังหวัดสระบุรีเรียกเงินตามเช็คสองฉบับ ศาลจังหวัดสระบุรีพิพากษาให้นางสำรวยชำระหนี้จำนวน 1,300,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 500,000 บาท และ 800,000 บาท นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2540 และวันที่ 30 ตุลาคม 2540 ตามลำดับไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวมกันต้องไม่เกิน 975,000 บาท คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินที่นางสำรวยฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,599,110.95 บาท แต่จำเลยที่ 2 แจ้งว่าบัญชีเงินฝากของนางสำรวยปิดแล้ว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ชี้ขาดให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นคำวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ให้คำรับรองแก่โจทก์ว่า นางสำรวยมีบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท จำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นเสียแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เชื่อคำรับรองนั้นและยอมให้นางสำรวยนำรถยนต์ในบริษัทของโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลทั่วไป หลังจากนั้นนางสำรวยสั่งจ่ายเช็คจำนวนสี่ฉบับรวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท ให้แก่โจทก์เพื่อชำระราคารถยนต์ดังกล่าว แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสี่ฉบับ โจทก์ได้ฟ้องเรียกเงิน 1,300,000 บาท ตามเช็คสองฉบับจากนางสำรวยต่อศาลจังหวัดสระบุรี ต่อมาศาลพิพากษาให้นางสำรวยชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของนางสำรวย ปรากฏว่าบัญชีดังกล่าวปิดแล้วเนื่องจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ยอมให้นางสำรวยถอนเงินออกจากบัญชี อันเป็นการผิดสัญญาและเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีว่า การที่จำเลยทั้งสองยอมให้นางสำรวยถอนเงินจากบัญชีเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการที่จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปยังโจทก์ก็เป็นการปฏิบัติงานตามปกติของจำเลยที่ 2 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือต้องร่วมรับผิดในมูลละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ส่วนปัญหาว่า การที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือรับรองยอดเงินฝากของนางสำรวยไปถึงโจทก์และให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้ใครถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจนกว่าจะได้รับความยินยอมจากโจทก์จะเป็นการกระทำนอกเหนือขอบอำนาจที่จำเลยที่ 2 มอบหมายหรือไม่ ไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยทั้งที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การไว้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นข้อพิพาท ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง อย่างไรก็ดี เนื่องจากโจทก์กับจำเลยที่ 2 ต่างนำพยานเข้าสืบตามข้ออ้างข้อเถียงของตนจนเสร็จสิ้นกระแสความแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทไปเสียทีเดียว โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองไปถึงโจทก์ ยืนยันว่านางสำรวยมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษอยู่กับจำเลยที่ 2 ซึ่งมียอดเงินฝากในขณะนั้น 3,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกจากบัญชีเว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ คำรับรองฉบับนี้มีลักษณะเป็นคำมั่นซึ่งมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามคำมั่นดังกล่าวทั้งข้อเท็จจริงได้ความจากนายวีระผู้รับมอบอำนาจโจทก์ว่า หลังจากที่โจทก์ได้รับหนังสือรับรองฉบับนั้นจากจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงยอมให้นางสำรวยรับรถยนต์จากโจทก์ไปจำหน่ายได้ อันพึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำมั่นของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้เสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคสอง อีก จำเลยที่ 2 ต้องถูกผูกพันตามคำมั่นที่จะไม่ยอมให้ผู้ใดถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของนางสำรวย เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้นางสำรวยเปลี่ยนบัญชีเงินฝากจากบัญชีออมทรัพย์พิเศษเป็นบัญชีออมทรัพย์ธรรมดาและยอมให้ถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามคำมั่นอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยตรง ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้ถอนเงินจากบัญชีของนางสำรวยโดยสุจริตหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากเงินในบัญชีที่นางสำรวยฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 10,000 บาท

Share