คำวินิจฉัยที่ 48/2548

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๘/๒๕๔๘

วันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๘ บริษัทไทยเซ่กาอีเล็คตริค จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมศุลกากร จำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๕/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์สะสมประจุไฟฟ้า ซึ่งเรียกว่า คาปาซิเตอร์ (CAPACITOR) หรือคอนเด็นเซอร์ (CONDENSER) โดยนำเข้าวัตถุดิบและหรือส่วนประกอบคือ พี พี ซิงค์ เมอร์ไทลไลซ์ โพลีโพรพิลีน ฟิล์ม (P.P.ZINC METALLIZED POLYPROPYLENE FILM) ชนิดเคลือบโลหะ และ พี พี โพลีโพรพิลีน ฟิล์ม (P.P. POLYPROPYLENE FILM) ชนิดไม่เคลือบโลหะ มาจากต่างประเทศเพื่อใช้ผลิต โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามพร้อมนำวัตถุดิบตัวอย่างที่จะนำเข้าจากต่างประเทศไปให้กองพิธีการและประเมินอากร สังกัดจำเลยเพื่อขอทราบว่า การนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวจะต้องเสียภาษีอากรในพิกัดใด โจทก์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาว่าต้องเสียภาษีอากรในพิกัด ๘๕๓๒.๙๐ อัตราร้อยละ ๑ ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ๔/๒๕๓๗ โจทก์จึงนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาโดยเสียภาษีอากรในพิกัดและอัตราดังกล่าวมาตลอด ทั้งนำไปประกอบการคำนวณต้นทุนการผลิตเพื่อสามารถผลิตได้ในราคาที่สามารถแข่งกับสินค้าสำเร็จรูปที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร จึงได้ขยายการผลิต โดยขยายโรงงานและซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมรวมทั้งสั่งสินค้าซึ่งเป็นวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาโดยยื่นสำแดงสินค้า และชำระภาษีอากรในอัตราดังกล่าวตลอดมา ซึ่งจำเลยได้ตรวจสอบสินค้าและปล่อยสินค้ามาโดยตลอด และโจทก์ได้จำหน่ายสินค้าโดยคำนวณต้นทุนภาษีในอัตราร้อยละ ๑ เป็นต้นทุนและเป็นฐานในการกำหนดราคาขายตลอดมา ต่อมาวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ โจทก์สั่งและนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวจากประเทศญี่ปุ่นและสำแดงรายการและชำระภาษีอากรเหมือนที่เคยปฏิบัติมา ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจสอบและแจ้งให้ทราบว่าพิกัดที่สำแดงไม่ถูกต้อง โจทก์จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ ๓๕ โจทก์ชี้แจงว่าปฏิบัติตามหนังสือที่จำเลยเคยแจ้งให้โจทก์ทราบ แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยแจ้งว่าหนังสือดังกล่าวไม่ถูกต้องและให้โจทก์วางเงินประกัน ต่อมาวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จำเลยประเมินภาษีอากรที่โจทก์นำเข้าสินค้าเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ ว่าอยู่ในพิกัดประเภท ๓๙.๒๐ อัตราร้อยละ ๓๕ และให้โจทก์เสียภาษีอากรและเงินเพิ่มเติมเป็นเงิน ๑,๕๘๑,๖๐๕.๕๘ บาท โจทก์ชำระเงินดังกล่าวให้จำเลยแล้วอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อจำเลยเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๔ ปัจจุบันยังไม่มีคำวินิจฉัยจากจำเลยแต่อย่างใด ต่อมาจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์สำแดงเท็จและเข้าตรวจสอบโรงงานของโจทก์และยึดเอกสารไปตรวจสอบเป็นจำนวนมากโดยยืนยันว่าใบขนสินค้า ๑๑๖ ใบ ที่โจทก์นำวัตถุดิบและหรือส่วนประกอบที่นำเข้ามานับจากวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ เป็นสินค้าที่ต้องชำระอากรตามพิกัดประเภท ๓๙.๒๐ อัตราร้อยละ ๓๕ การที่จำเลยกลับความเห็นของตนเองและบังคับโจทก์ให้ต้องรับผิดเสียภาษีอากรเพิ่ม เงินเพิ่มและค่าปรับทั้งที่มิใช่ความผิดของโจทก์นั้น ถือว่าจำเลยได้พิจารณาพิกัดอัตราศุลกากรย้อนหลังเป็นการขัดต่อพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๕ วรรคสอง และขัดต่อข้อกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและประกาศกระทรวงการคลังแก้ไขถึงวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ หมวด ๗ ตอน ๓๙ หมายเหตุ ๒ (น) ที่บัญญัติว่า ตอนที่ ๓๙ นี้ไม่คลุมถึงของในหมวด ๑๖ (เครื่องจักรและเครื่องใช้กล หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า) ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ประกอบกับการที่จำเลยพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ล่าช้าเกินสมควรเป็นผลให้โจทก์ไม่อาจขยายการผลิตและจำหน่ายต่อไปได้ เพราะมีความสับสนในส่วนต้นทุน การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการสั่งซื้อเครื่องจักรและขยายโรงงานเป็นเงิน ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท สูญเสียโอกาสทางการค้าตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ – ๒๕๔๑ เป็นเงิน ๑๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายที่เกิดจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งบริษัทมีกำไรทุกปีนับจากปี ๒๕๓๗ – ๒๕๔๑ เพราะคิดต้นทุนในส่วนอัตราภาษีอากรขาเข้าร้อยละ ๑ แต่ต่อมาจากการประเมินภาษีใหม่ของจำเลยทำให้โจทก์กลับต้องชำระภาษีอากรขาเข้าถึงร้อยละ ๓๕ ค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายจากการพิจารณาอุทธรณ์ล่าช้าทำให้โจทก์ไม่สามารถขยายการผลิตเพราะมีปัญหาการนำเข้าวัสดุและส่วนประกอบทำให้สูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระเงินไปก่อนเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นเงิน ๑,๕๘๑,๖๐๕.๕๘ บาท ค่าเสียหายที่เกิดจากภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นและค่าปรับตามใบขน ๑๑๖ ใบ ที่จำเลยยึดไปจากโจทก์เป็นจำนวนเงิน ๑๕๑,๙๕๑,๒๔๘ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๙๗,๕๓๒,๘๕๓.๕๘ บาท (ที่ถูกควรเป็น ๑๙๕,๕๓๒,๘๕๓.๕๘ บาท) ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
อนึ่ง โจทก์เคยฟ้องคดีเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองกลางมาแล้ว แต่ศาลไม่รับฟ้อง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามคำขอให้เพิกถอนการแจ้งประเมินอากรขาเข้าภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดทั้งคำสั่งที่ให้สินค้าที่ผู้ฟ้องคดี (โจทก์) นำเข้าอยู่ในประเภท ๓๙.๒๐ และ ๓๙.๒๑ เปอร์เซ็นต์ หรือ ๘.๒๓ บาท ต่อกิโลกรัมนั้น เป็นคดีซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๗ (๑) ส่วนที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลย) ชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นข้อหาเดียวกันกับคดีนี้นั้นก็เห็นว่า เป็นการฟ้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลย) ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่คำขอดังกล่าวเป็นประเด็นที่สืบเนื่องมาจากคำขอที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลภาษีอากรจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นเดียวกัน
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า มูลพิพาทเกี่ยวกับคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐว่า จำเลยซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการจัดเก็บภาษีศุลกากร โดยเป็นผู้มีหน้าที่พิจารณาและชี้ขาดว่าสินค้าใดที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรต้องเสียภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากรหรือไม่ และเสียในอัตราเท่าใด ทั้งนี้โดยพิจารณาว่าสินค้าที่นำเข้าจัดอยู่ในพิกัดอัตราภาษีใดตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร รวมทั้งมีหน้าที่ที่จะแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายที่จะนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและประสงค์จะทราบว่าจะต้องเสียภาษีอากรในพิกัดเท่าใด ทั้งนี้เป็นการบริการด้านสาธารณะที่หน่วยงานราชการให้บริการข้อมูลในด้านภาษีเพื่อผู้ประกอบการใช้เป็นฐานในการคำนวณต้นทุนที่แท้จริงว่า สามารถที่จะดำเนินการและแข่งขันกับสินค้าต่างประเทศได้หรือไม่ อันเป็นส่วนหนึ่งที่รัฐมีหน้าที่ว่าด้วยความสะดวกเพื่อแข่งขันและส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและผลิตเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจักต้องกระทำด้วยความรวดเร็วมีมาตรฐานและมีกฎเกณฑ์เดียวกันเพื่อให้ผู้ประกอบการซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีได้นำเก็บข้อมูลมาประกอบการลงทุน โดยเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ จำเลยได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาส่วนประกอบตัวเก็บประจุไฟฟ้าแก่โจทก์ว่าสินค้าดังกล่าวชำระภาษีอากรในพิกัด ๘๕๓๒.๙๐ อัตราร้อยละ ๑ ภายหลังจากนั้นโจทก์นำวัตถุดิบเข้ามาโดยเสียภาษีอากรในอัตราร้อยละ ๑ มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ โจทก์ได้สั่งและนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวจากต่างประเทศและได้สำแดงรายการและชำระภาษีอากรเหมือนที่เคยปฏิบัติ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ตรวจสอบและแจ้งว่าพิกัดที่สำแดงไม่ถูกต้อง โจทก์เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๓๕ โจทก์ชี้แจงโดยแสดงเอกสารการพิจารณาของจำเลยให้แก่เจ้าหน้าที่ของจำเลย แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยกลับแจ้งว่า เอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องและให้โจทก์วางเงินประกัน มิเช่นนั้นไม่สามารถนำสินค้าดังกล่าวออกได้ โจทก์จึงยอมวางเงินประกัน ต่อมาเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จำเลยกลับแจ้งว่าสินค้าดังกล่าวต้องเสียภาษีอากรในพิกัด ๓๙.๒๐ อัตราร้อยละ ๓๕ ซึ่งถือว่าจำเลยไม่มีมาตรฐานและหรือมีสองมาตรฐานในหน่วยงานเดียวกันซึ่งเป็นการไม่แน่นอน นอกจากนี้ภายหลังจากโจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งประเมินภาษีอากรแก่จำเลยแล้ว ปรากฏว่าจำเลยได้พิจารณาอุทธรณ์ล่าช้าจนถึงปัจจุบันยังไม่พิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีดังกล่าวถือได้ว่าเป็นคดีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลางตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ สรุปได้ว่า บริษัทไทยเซ่กา อีเล็คตริค จำกัด โจทก์ ประกอบกิจการผลิตอุปกรณ์สะสมประจุไฟฟ้าซึ่งเรียกว่า คาปาซิเตอร์ (CAPACITOR) หรือคอนเด็นเซอร์ (CONDENSER) โดยนำเข้าวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิต คือ พี พี ซิงค์ เมอร์ไทลไลซ์ โพลีโพรพิลีน ฟิล์ม (P.P.ZINC METALLIZED POLYPROPYLENE FILM) ชนิดเคลือบโลหะ และ พี พี โพลีโพรพิลีน ฟิล์ม (P.P. POLYPROPYLENE FILM) ชนิดไม่เคลือบโลหะมาจากต่างประเทศ ก่อนนำเข้าโจทก์ส่งตัวอย่างวัตถุดิบดังกล่าวพร้อมทำหนังสือสอบถามการเสียภาษีอากรต่อกองพิธีการและประเมินอากร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดจำเลย โดยได้รับแจ้งเป็นหนังสือว่าต้องเสียภาษีอากร ในพิกัด ๘๕๓๒.๙๐ อัตราร้อยละ ๑ ตามประกาศกระทรวงการคลังที่ ๔/๒๕๓๗ หลังจากนั้นโจทก์ทำการผลิตและขยายการผลิต โดยขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักรเพิ่มและนำเข้าวัตถุดิบโดยยื่นสำแดงสินค้า และชำระภาษีอากรในอัตราดังกล่าวตลอดมา แต่เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๑ โจทก์สั่งและนำเข้าวัตถุดิบดังกล่าวมาอีกและถูกเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าพิกัดที่สำแดงไม่ถูกต้องจึงประเมินให้โจทก์เสียภาษีในพิกัดใหม่ประเภท ๓๙.๒๐ อัตราร้อยละ ๓๕ พร้อมทั้งทำการประเมินภาษีอากรและเงินเพิ่มย้อนหลังถึงวันแรกที่โจทก์นำเข้าวัตถุดิบดังกล่าว อันเป็นการพิจารณาพิกัดอัตราศุลกากรย้อนหลังขัดต่อพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๕ วรรคสอง และข้อกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและประกาศกระทรวงการคลังแก้ไขถึงวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ หมวด ๗ ตอน ๓๙ หมายเหตุ ๒ (น) โจทก์นำเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มไปชำระแก่จำเลย แล้วอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวต่อจำเลยแต่จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยแต่อย่างใด นอกจากนี้จำเลยยังกล่าวหาว่าโจทก์สำแดงเท็จและเข้าตรวจสอบโรงงานของโจทก์แล้วยึดเอกสารไปด้วย ขอให้ชำระค่าเสียหาย เห็นว่า ตามคำฟ้องคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่า เจ้าหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรวินิจฉัยว่าโจทก์เสียภาษีในพิกัดที่ไม่ถูกต้อง แล้วทำการประเมินภาษีอากรที่โจทก์จะต้องเสียใหม่ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๑๕ วรรคสอง และข้อกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรและประกาศกระทรวงการคลังแก้ไข ถึงวันที่ ๓๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ หมวด ๗ ตอน ๓๙ หมายเหตุ ๒ (น) จึงเป็นคดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร และแม้คดีนี้โจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยก็ตาม แต่ค่าเสียหายดังกล่าว ก็เป็นมูลความที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งคำขอของโจทก์บางข้อ ก็เป็นการขอคืนเงินภาษีอากรเพิ่มและเงินเพิ่มที่โจทก์ชำระแก่จำเลยไปแล้ว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีภาษีอากร ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ อันอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง บริษัทไทยเซ่กาอีเล็คตริค จำกัด โจทก์ กรมศุลกากร จำเลย เป็นคดีภาษีอากร อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

วัชรินทร์ คัด/ทาน

Share