แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น คู่ความทั้งสองคดีต้องเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อคดีก่อน ก. เป็น โจทก์โดยมีโจทก์คดีนี้เป็นผู้ฟ้องแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของ ก. ผู้เยาว์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่คู่ความเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
บันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์โดยพรากผู้เยาว์ไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย มิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 22,691 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 5,000 บาท นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 วันที่ 2 ธันวาคม 2545 วันที่ 2 มกราคม 2546 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 สิงหาคม 2546) ต้องไม่เกิน 2,691 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อ 3 ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนคือคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 654/2546 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า กรณีจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น คู่ความคดีก่อนและคู่ความคดีนี้ต้องเป็นคู่ความเดียวกัน ปรากฏว่าคดีก่อนนางสาวกชกรเป็นโจทก์โดยมีโจทก์คดีนี้เป็นผู้ฟ้องแทนในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนตัวในฐานะเป็นคู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ได้ฟ้องแทนบุตรผู้เยาว์ ดังนั้นโจทก์ในคดีก่อนและโจทก์ในคดีนี้มิใช่คู่ความเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อสุดท้ายว่า บันทึกตกลงชดใช้ค่าเสียหายเป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับคดีอาญาในความผิดต่อแผ่นดิน เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า บันทึกดังกล่าวเป็นข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยกระทำละเมิดต่ออำนาจปกครองของโจทก์โดยการพรากผู้เยาว์ไปจากโจทก์ ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าคู่กรณีประสงค์จะระงับคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อแผ่นดิน สัญญาประนีประนอมยอมความตามบันทึกดังกล่าวจึงย่อมมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ดังที่จำเลยฎีกาไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน โจทก์ไม่แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.