แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มโดยพิจารณาจากยอดซื้อเฉพาะที่ปรากฏในรายงานภาษีซื้อของโจทก์ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 ส่งมาให้เท่านั้น มิได้พิจารณายอดซื้อตามใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีที่โจทก์มอบหมายให้ทำบัญชีส่งมอบเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีส่งมอบเพื่อประกอบยอดซื้อตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ถูกแก้ไขในการทุจริตโกงเงินภาษีที่นำส่งจำเลยซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีในส่วนนี้ตามเช็คที่ได้เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยแล้ว แต่ยอดซื้อตามรายงานภาษีซื้อของโจทก์ที่ไม่รวมส่วนที่สำนักงานบัญชีและเจ้าพนักงานของจำเลยร่วมกันทุจริตก็ปรากฏว่ายังมีภาษีซื้อต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/5 เนื่องจากเป็นยอดซื้อตามใบกำกับภาษีซื้อที่มีข้อความไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ค่าใช้จ่ายรถยนต์ หรือไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาแสดง และยอดซื้อจากใบกำกับภาษีปลอม ดังนี้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในเดือนภาษีมกราคม 2538 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2541 เดือนภาษีมีนาคม พฤษภาคมถึงเดือนภาษีตุลาคม 2541 เดือนภาษีกุมภาพันธ์ มีนาคม พฤษภาคม และมิถุนายน 2542 และให้ลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้งหมด
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีการแก้ไข แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาจากแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีการแก้ไขดังกล่าว เนื่องจากเป็นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาจากรายงานภาษีซื้อและใบกำกับภาษีซื้อที่โจทก์และนายจันทร์ส่งมอบในครั้งแรกอันเป็นการพิจารณาเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ในกรณีที่โจทก์นำภาษีซื้อต้องห้ามมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผลให้โจทก์ชำระภาษีตามเช็คที่สั่งจ่ายไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ชำระภาษีไว้แล้วตามเช็คที่โจทก์เป็นผู้สั่งจ่าย กรณีจึงมิใช่เป็นการพิจารณาเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความผิดของนายจันทร์และเจ้าพนักงานของจำเลย เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากรายงานการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2538 ถึงกรกฎาคม 2542 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์ตามยอดซื้อเฉพาะที่ปรากฏในรายงานภาษีซื้อของโจทก์ตามที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 ส่งมาให้เท่านั้น โดยไม่พิจารณายอดซื้อตามใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีที่โจทก์มอบหมายให้ทำบัญชีส่งมอบเพิ่มเติมจำนวน 49 ฉบับ เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีส่งมอบเพื่อประกอบยอดซื้อตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ที่ถูกแก้ไขในการทุจริตโกงเงินภาษีที่นำส่งจำเลย ซึ่งโจทก์ได้ชำระภาษีในส่วนนี้ตามเช็คที่ได้เรียกเก็บเงินเข้าบัญชีของจำเลยแล้ว แต่อย่างไรก็ตามยอดซื้อตามรายงานภาษีซื้อของโจทก์ที่ไม่รวมส่วนที่สำนักบัญชีและเจ้าพนักงานของจำเลยร่วมกันทุจริตก็ปรากฏว่ายังมีภาษีซื้อต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 เช่นที่อยู่ผู้ซื้อไม่ถูกต้อง ยอดซื้อที่ไม่มีใบกำกับภาษี ภาษีซื้อค่าผ่อนชำระรถยนต์ ค่าใช้จ่ายรถยนต์และมียอดซื้อจากใบกำกับภาษีปลอม ซึ่งเป็นความผิดชัดแจ้ง เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีซื้อที่มีข้อความไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ค่าใช้จ่ายรถยนต์ หรือไม่มีใบกำกับภาษีซื้อมาแสดง เป็นต้น โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีและเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (4) และ 89 (7) แห่งประมวลรัษฎากร และในส่วนภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมเป็นภาษีซื้อจากใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการรายเดียวกับผู้ออกใบกำกับภาษีที่สำนักงานบัญชีส่งมอบเพิ่มเติมประกอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกแก้ไขจำนวน 49 ฉบับ ได้แก่ บริษัท ก.การช่างเทคโนโลยี (1995) จำกัด บริษัทเทคโนโลยี ก.การช่าง จำกัด บริษัท ก.การช่างแมคคานิค จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด คิงส์สตาร์อุตสาหกรรมไทย และนายนิวัฒน์ซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่เคยติดต่อซื้อขายสินค้ากับผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่ามีรายชื่อผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ในรายงานภาษีซื้อของโจทก์ตั้งแต่เดือนภาษีมีนาคม 2538 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2540 อีกทั้งนายสง่าหุ้นส่วนผู้จัดการ และเจ้าของกิจการได้ยอมรับเองในชั้นตรวจสอบว่าได้มีการติดต่อซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการทั้ง 5 รายผ่านพนักงานขายไม่ทราบชื่อและไม่ทราบว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ผู้ขายมิได้เป็นผู้ออก จึงเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์ชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด ซึ่งโจทก์ไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์สนับสนุนข้อโต้แย้งของตน โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีใช้ใบกำกับภาษีปลอมเฉพาะที่ปรากฏในรายงานภาษีซื้อของโจทก์เท่านั้น ดังนี้ ตามรายงานการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีมูลค่าเพิ่มของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายงานภาษีซื้อของโจทก์มิใช่ประเมินจากแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มที่นายจันทร์ร่วมกับเจ้าพนักงานของจำเลยที่มีหน้าที่รับแบบแสดงรายการภาษีและเก็บเงินค่าภาษีอากรของจำเลยเขตคลองเตย เขตคลองเตยสาขา 1 เขตยานนาวา เขตราษฎร์บูรณะ และเขตบางคอแหลม ทุจริตโดยการปลอมลายมือชื่อของนางสุวิมล และกรอกข้อความอันเป็นเท็จลงในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วนำไปยื่นต่อจำเลยแทนฉบับที่แท้จริงของโจทก์ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วปรากฏว่าโจทก์ยังมีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระเพิ่มนอกเหนือจากที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายให้แก่จำเลย ซึ่งในประเด็นนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยมา ดังนี้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจึงชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาพิพากษามานั้นเป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแก้ไขการประเมินในส่วนนี้ไปแล้ว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,500 บาท