คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 635/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย5 ปี เป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานหลักฐานในคดีไม่ปรากฏว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง และโจทก์ก็มิได้นำสืบถึงผู้เสียหาย และเจ้าของทรัพย์ที่ถูกลัก การที่ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานแวดล้อมเป็นการฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227และเมื่อคดีมีข้อสงสัยว่า จำเลยจะได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร โดยบรรยายฟ้องตอนต้นว่า มีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้เสียหายต่อมาในฟ้องข้อ 2 โจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า มีผู้พบเห็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลย จึงกล่าวหาว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ดังกล่าวไปหรือมิฉะนั้นจำเลยก็รับทรัพย์นั้นไว้จากคนร้ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อันเป็นความผิดฐานรับของโจร โดยขอให้ลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งซึ่งก็แล้วแต่ทางพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดฐานใด โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน และสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) แล้ว.(ที่มา-เนติ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (1) (8), 357 จำเลยให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา335 (1) (8) ให้จำคุก 5 ปีจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ‘คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปีคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ฎีกาของจำเลยข้อ 2 (ข) ที่ว่าพยานหลักฐานในคดีไม่ปรากฏว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและโจทก์มิได้นำสืบถึงผู้เสียหายและเจ้าของทรัพย์ที่ถูกลักการที่ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานแวดล้อม เป็นการฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 และเมื่อคดีมีข้อสงสัยว่าจำเลยจะได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ศาลควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยโดยพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้นศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาจำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อ 2 (ก) ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรซึ่งความผิดทั้งสองฐานนี้มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีเพราะจำเลยไม่เข้าใจว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดข้อหาใดแน่พิเคราะห์แล้วในตอนต้นโจทก์บรรยายฟ้องว่ามีคนร้ายเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถานของผู้เสียหายต่อมาในฟ้องข้อ 2 โจทก์ได้บรรยายฟ้องต่อไปว่ามีผู้พบเห็นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยจึงกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ดังกล่าวไปหรือมิฉะนั้นจำเลยก็รับทรัพย์นั้นไว้จากคนร้ายโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์อันเป็นความผิดฐานรับของโจรโดยขอให้ลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งซึ่งก็แล้วแต่ทางพิจารณาว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานใดโจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐาน ดังนั้น คำฟ้องโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกันจนทำให้จำเลยหลงผิดหรือไม่สามารถเข้าใจข้อหาได้ดีถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นอีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) แล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share