แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่า เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้วลูกหนี้หามีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆ หรือการกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 3จึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาด เพราะกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว แม้จำเลยที่ 3จะได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ขอเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็จะดำเนินคดีเองต่อไปไม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งห้าไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาด ต่อมาวันที่19 กุมภาพันธ์ 2533 เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไป จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์2533 อ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบและขายได้ราคาต่ำ ขอให้ขายทอดตลาดใหม่
โจทก์และนายวิชัย รักศรีอักษร ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำแถลงคัดค้านและโจทก์อ้างว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 3กับพวกได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.827/2532 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 24 ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดไต่สวน ทนายจำเลยที่ 3 แถลงว่า จำเลยที่ 3 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามคำแถลงคัดค้านของโจทก์จริง ศาลชั้นต้นสั่งว่า จำเลยที่ 3 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไปแล้วก่อนยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดคดีนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดอีกเนื่องจากเป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(3) และมาตรา 24จึงให้ยกคำร้องจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่า เมื่อวันที่29 ธันวาคม 2532 จำเลยที่ 3 กับพวกได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายเรื่องอื่น วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2533เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่ยึดไว้ในคดีนี้ วันที่ 23 เดือนเดียวกัน จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาด จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าคดีนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้เข้ามาว่าคดีแทนจำเลยที่ 3 ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจที่จะดำเนินคดีร้องคัดค้านการขายทอดตลาดคดีนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดต่อไป ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติในมาตรา 22 และ 24แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ได้กล่าวไว้ชัดแจ้งว่าเมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้หามีอำนาจต่อสู้คดีใด ๆหรือการกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินไม่ ไม่ว่าในชั้นพิจารณาหรือชั้นบังคับคดี การร้องคัดค้านการขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นการต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างหนึ่งอันเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 3 จึงไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเพราะกฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์”แต่ผู้เดียว” แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้ขอเข้ามาดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ก็จะดำเนินคดีเองต่อไปไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจร้องคัดค้านการขายทอดตลาดเข้ามาเป็นคดีนี้แล้ว ฎีกาข้ออื่นจึงไม่เป็นสาระแก่คดี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของจำเลยที่ 3 จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน