แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน ต่อมาโจทก์ได้ทำร้ายจำเลยทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะเป็นสามีภริยากันต่อไป จึงไปทำความตกลงกันที่สถานีตำรวจ โดยให้เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกว่า โจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันและจะแบ่งทรัพย์สินกันตามบันทึก ซึ่งมีร้อยตำรวจโทส. และจ่าสิบตำรวจ จ. เป็นพยาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหย่าและเพื่อให้จำเลยไม่ติดใจเอาความโจทก์ โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เป็นการตอบแทน เมื่อมิได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลใช้เป็นหลักฐานแห่งการหย่าได้ตามมาตรา 1514 วรรคสอง และยังใช้บังคับในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกนั้นได้ด้วย ข้อตกลงเรื่องการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นข้อตกลงที่แบ่งแยกจากกันมิได้ จึงมิได้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างเดียวโดยตรง อันจะมีผลทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1469 ข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินที่ว่าโจทก์ตกลงขายรถยนต์ที่โจทก์ใช้อยู่โดยจะแบ่งเงินที่ขายได้ให้แก่โจทก์ 20,000 บาทจำเลยจะจ่ายให้ทันที่ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะจ่ายเป็นเช็คให้อีก 10,000 บาท มีกำหนด 1 เดือน นั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังใช้รถยนต์อยู่มิได้ขายตามข้อตกลง ส่วนจำเลยก็ชำระเงินให้โจทก์ไปเพียง 10,000 บาท ดังนั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดถึงกรณีที่มิได้ขายรถไว้ว่าคู่กรณีตกลงกันอย่างไร จึงต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะได้เงินจากการขายรถเพียง 20,000 บาท เงินส่วนที่เหลือจากการขายเป็นของจำเลยทั้งหมด เมื่อไม่มีการขายรถ จำเลยจึงควรจะเป็นผู้มีสิทธิจัดการเกี่ยวกับรถนั้นโดยชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อตกลงจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบรถให้แก่จำเลย บันทึกข้อตกลงในการหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาจะใช้บังคับทรัพย์สินอื่นที่มีอยู่ก่อนหรือได้มาหลังข้อตกลงนอกจากที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงนั้นไม่ได้ เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างนั้นจึงต้องเป็นสินสมรสที่จะต้องนำมาแบ่งครึ่งกั สร้อยคอทองคำและพระเครื่องที่จำเลยซื้อให้แก่โจทก์ระหว่างสมรสเป็นทรัพย์ที่เป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของโจทก์โดยเฉพาะ จึงเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากมีการตกลงจะหย่ากัน เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นสินสมรส การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1531 วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่า หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาตามคำขอท้ายฟ้อง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกนาวาอากาศตรีสุบินฑ์ มารยาตร์ ว่าโจทก์ เรียกนางวนิดา มารยาตร์ว่าจำเลย
สำนวนแรกจำเลย (นางวนิดา มารยาตร์) ฟ้องว่า จำเลยจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ (นาวาอากาศตรีสุบินฑ์ มารยาตร์) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2510 ต่อมามีกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลย ทั้งสองฝ่ายจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน และแบ่งทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมายเลข 1ท้ายฟ้องโดยตกลงให้ขายรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าที่โจทก์ใช้อยู่แล้วแบ่งเงินที่ขายได้ให้โจทก์ 20,000 บาท ที่เหลือให้จำเลยรับไปที่ดินท้องที่อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ซื้อจากสวัสดิการทหารอากาศและที่ดินตำบลสายไหม อำเภอบางเขนกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 83 ตารางวา ที่เช่าซื้อจากกองทัพอากาศโจทก์ยอมยกให้จำเลย โดยให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อเองส่วนทรัพย์อื่นนอกนั้นตามบัญชีทรัพย์ดังกล่าวโจทก์ยกให้จำเลยอีกเช่นกัน จำเลยติดต่อให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันและให้ส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำฟ้อง รวมราคา1,100,000 บาท แก่จำเลย โจทก์เพิกเฉย และได้ยักย้ายโอนทรัพย์อันดับที่ 10 ให้บุคคลภายนอก ขอให้โจทก์ไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับจำเลย หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์ออกจากทรัพย์อันดับที่ 27 และให้โอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ดินทรัพย์อันดับที่ 25, 26 ให้จำเลย หากโจทก์ไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์ทั้งหมดตามบัญชีทรัพย์ท้ายคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องแก่จำเลย หากส่งมอบไม่ได้ให้โจทก์ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน1,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ (นาวาอากาศตรีสุบินฑ์ มารยาตร์) ให้การว่าโจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน โจทก์จำเลยเกิดวิวาททุบตีกันเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2520 เป็นเหตุให้จำเลยได้รับบาดเจ็บ จำเลยไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม โจทก์จำเลยตกลงจะหย่าขาดจากกัน และโจทก์ยกทรัพย์สินหลายรายการตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมายเลข 1 ท้ายฟ้อง ให้จำเลย ต่อมาโจทก์จำเลยคืนดีกันและอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาตามเดิม ข้อตกลงที่โจทก์ยกทรัพย์สินให้จำเลยเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโจทก์ได้บอกล้างไปแล้วไม่มีผลบังคับ ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์หมายเลข 2 ท้ายฟ้องอันดับที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 11, 12, 13, 14, 15, 22, 24,25, 26, 27, 28, 29, 30, 31, 32, 33, 34, 35 เป็นสินสมรสส่วนทรัพย์อันดับที่ 7, 8, 9, 16, 17, 18, 19, 20, 21 เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ทรัพย์อันดับที่ 10 เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยขายและรับเงินไปแล้วทรัพย์อันดับที่ 23 คือไก่เป็นสินสมรส ศาลชั้นต้นอายัดไว้ไม่มีใครเลี้ยงดูจึงตายหมด ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สองโจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยสมรสกันเมื่อวันที่ 19มิถุนายน 2510 ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2521 เป็นต้นมา จำเลยเป็นชู้กับนายสมชาย ทิพย์ละคร คนขับรถของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังสมคบกับมารดาจำเลยแจ้งเท็จกล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์มารดาจำเลยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมได้ควบคุมโจทก์ไปดำเนินคดีอาญา ทำให้โจทก์และจำเลยไม่อาจอยู่ร่วมเป็นสามีภริยากันได้ ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีสินสมรสปรากฏตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องโจทก์จำเลยมีส่วนคนละครึ่ง ขอให้พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่งคิดเป็นเงิน 1,446,550 บาท ให้จำเลยชดใช้สินสมรสที่จำเลยทำให้สูญเสียหรือเสียหายเพื่อประโยชน์ของจำเลยฝ่ายเดียว
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นชู้กับนายสมชาย ทิพย์ละครหรือบุคคลอื่น โจทก์เองที่เป็นชู้กับภริยาผู้อื่น และทำร้ายร่างกายจำเลยอยู่เสมอ จำเลยได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม โจทก์จำเลยบันทึกตกลงหย่าขาดจากกันและแบ่งสินสมรสกัน โดยโจทก์ยอมรับเงินจากจำเลยเพียง 20,000 บาทแล้วไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์ใดอีก ยอมยกให้จำเลยทั้งหมด โจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่ากับจำเลย จำเลยจึงฟ้องหย่าโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 484/2522 ของศาลชั้นต้น ทรัพย์อันดับที่ 1 ไม่เป็นสินสมรสแต่เป็นของจำเลย ราคา 50,000 บาท อันดับที่ 2, 3 ไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นของจำเลย ราคา 300,000 บาท ทรัพย์อันดับที่ 4, 5ไม่ใช่สินสมรส แต่เป็นของมารดาจำเลยราคา 100,000 บาท อันดับที่ 6 เป็นสินส่วนตัวของจำเลย อันดับที่ 7, 8, 9 และ 10 ไม่มีอันดับที่ 11-19 ไม่มี อันดับที่ 20, 21 เป็นสินส่วนตัวของจำเลยราคา80,000 บาท อันดับที่ 22 ไม่มี อันดับที่ 23 เป็นสินส่วนตัวของจำเลยราคา 10,000 บาท อันดับที่ 24 ไม่มี อันดับที่ 25 เป็นของจำเลยซื้อหามา โจทก์เบียดบังออกขายเอาเงินไว้เอง อันดับที่ 26, 27, 28 ไม่มีอันดับที่ 29 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น อันดับที่ 30 เป็นสิทธิของผู้อื่น อันดับที่ 31 เป็นสินสมรส อันดับที่ 32 ไม่มี อันดับที่ 33เป็นสินส่วนตัวของจำเลย อันดับที่ 34 เป็นสินส่วนตัวของจำเลยอันดับที่ 35 เป็นของบุตรราคาไม่เกิน 1,000 บาท อันดับที่ 36เป็นสินสมรส อันดับที่ 37 เป็นสินส่วนตัวของจำเลย จำเลยเป็นลูกหนี้ธนาคารและบุคคลอื่นประมาณ 300,000 บาท หากโจทก์ได้ส่วนแบ่งจากสินสมรสโจทก์ต้องร่วมรับผิดในหนี้จำนวนนี้ด้วยโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินจากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน ให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันยังที่ว่าการอำเภอเมืองนครปฐมหากโจทก์จำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์จำเลย ให้จำเลยได้ทรัพย์สินดังนี้คือ (ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องโจทก์) อันดับที่ 1 ที่ดินไร่อ้อยกำแพงแสน จำนวน 24 ไร่ อันดับที่ 2 เฉพาะที่ดินปลูกบ้านเลขที่ 99หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมอันดับที่ 4 ที่ดินและบ้านเลขที่ 49/9 ซอยสงวนสิทธิ์อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อันดับที่ 5 บ้านสองหลังติดกันเลขที่ 49/9 ซอยสงวนสิทธิ์ ถนนพิพิธประสาท อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม อันดับที่ 6 เพชรพลอย ทองรูปพรรณ อันดับที่ 20รถยนต์บรรทุกโตโยต้าเลขทะเบียน น.ฐ.10346 อันดับที่ 21รถเก๋งโตโยต้า โคโรน่าหมายเลขทะเบียน น.ฐ.11319 ราคา 60,000 บาทอันดับที่ 22 เงินส่งประกันชีวิต อันดับที่ 23 ของใช้ในบ้าน อันดับที่ 24 สิทธิการเช่าแผงลอย 2 แผง อันดับที่ 26 ตึกแถวจำเลยซื้อใหม่อันดับที่ 27 เงินให้กู้ยืมมีรถยนต์เป็นประกัน อันดับที่ 28 เงินให้กู้ยืมมีที่ดินผ่อนส่งธนาคารกสิกรไทยเป็นประกัน อันดับที่ 29โทรศัพท์ติดตั้งบ้านเลขที่ 49/9 ซอยสงวนสิทธิ์ อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม อันดับที่ 32 สิทธิคิวรถวิ่งระหว่างวิทยาลัยครูกับตลาดนครปฐม อันดับที่ 34 ที่ดินผ่อนส่งสวัสดิการทหารอากาศและทรัพย์ อันดับที่ 26 (ตามบัญชีทรัพย์ของจำเลย) ที่ดินจัดสรรทหารอากาศโฉนดเลขที่ 48750 แปลงที่ 85 รุ่นที่ 7 ให้โจทก์โอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของทรัพย์อันดับที่ 34 และอันดับที่ 26 (ตามบัญชีทรัพย์ของจำเลย) ให้แก่จำเลย หากโจทก์ไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ กับให้โจทก์ส่งมอบทรัพย์อันดับที่ 21 แก่จำเลย หากส่งมอบไม่ได้ให้โจทก์ใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน60,000 บาท แก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย ให้จำเลยชำระเงินจำนวน20,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยแบ่งสินสมรสต่อไปนี้ให้โจทก์ครึ่งหนึ่งคือทรัพย์อันดับที่ 11 เงินแชร์จำนวน 13,000 บาท อันดับที่ 12 เงินไร่อ้อยเก็บในปี พ.ศ. 2521 จำนวน 20,000 บาท อันดับที่ 14 เงินขายสุกรงวดแรกจำนวน 60,000 บาท อันดับที่ 15 เงินขายสุกรงวดหลัง จำนวน 20,000 บาท อันดับที่ 16 เงินขายเป็ดโป๊ยช่ายจำนวน 10,000 บาท อันดับที่ 17 เงินขายไข่เป็ด จำนวน 6,000 บาทอันดับที่ 2 (เฉพาะบ้าน) คือบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อพลับอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อันดับที่ 3 ที่ดินคอกหมูและสิ่งปลูกสร้าง อันดับที่ 33 บ่อน้ำบาดาล อันดับที่ 25 สินค้าเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 99 ดังกล่าวจำนวน 30,000 บาท อันดับที่ 37เครื่องเสียงสเตอริโอ พร้อมลำโพง ราคา 5,000 บาท และทรัพย์อันดับที่ 1 ตามบัญชีทรัพย์ของจำเลยคือจักรเย็บผ้าซิงเกอร์ ราคา7,000 บาท ทรัพย์อันดับที่ 2, 3, 33, 25, 37 และ 1 หากแบ่งกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน คำขอของโจทก์จำเลยนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า สินสมรสตามรายการต่อไปนี้ให้แบ่งแก่โจทก์จำเลยฝ่ายละครึ่งได้แก่รถยนต์โตโยต้าโคโรน่าหมายเลขทะเบียน น.ฐ.11319 (ทรัพย์อันดับที่ 21 ท้ายฟ้องโจทก์อันดับที่ 24 ท้ายฟ้องจำเลย) ที่ดินผ่อนส่งกิโลเมตรที่ 26 ดอนเมือง(ทรัพย์อันดับที่ 26 ท้ายฟ้องจำเลย) ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องจำเลยอันดับที่ 2 ตู้เย็นซิงเกอร์ อันดับที่ 3 พัดลมยืน 1 ตัวตั้ง 1 ตัว อันดับที่ 4 เตียงนอน ที่นอนดันล็อป อันดับที่ 5 โต๊ะรับแขกบุนวม 1 ชุด อันดับที่ 6 โซฟาบุนวม 2 ตัว อันดับที่ 9 โต๊ะหมู่บูชา 1 ชุด อันดับที่ 11 ตู้เซฟ 1 ลูก อันดับที่ 12 ตู้โชว์ไม้1 ตัว สเตนเลส 1 ตัว อันดับที่ 13 ขันเงินพานรอง ทัพพี 1 ชุด อันดับที่ 14 ขันเงินล้างหน้า 1 ลูก อันดับที่ 15 หม้อหุงข้าวไฟฟ้า 1 ลูกอันดับที่ 22 กาต้มน้ำไฟฟ้าสเตนเลส หม้อแกงกระติกน้ำสเตนเลส อันดับที่ 29 ตู้เสื้อผ้าไม้สัก 1 ลูก ตู้หนังสือ 3 ลูกอันดับที่ 30 โต๊ะเครื่องแป้ง 1 ตัว อันดับที่ 31 แท็งก์น้ำ 3 ลูก อันดับที่ 32ตู้กับข้าว 1 ตู้ อันดับที่ 33 ซ้อนส้อมสเตนเลส 80 ชุด อันดับที่ 34จานเปล่าใส่แกงกระเบื้องขาว 10 ชุด อันดับที่ 35 โต๊ะกินข้าวไม้ประดู่ 1 ตัว และทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องโจทก์ดังต่อไปนี้ คืออันดับที่ 1 ที่ดินไร่อ้อยกำแพงแสนจำนวน 24 ไร่ อันดับที่ 2 เฉพาะที่ดินปลูกบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 7 ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อันดับที่ 4 ที่ดินและบ้านเลขที่ 49/9ซอยสงวนสิทธิ์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อันดับที่ 5บ้านสองหลังติดกันเลขที่ 49/9 ซอยสงวนสิทธิ์ ถนนพิพิธประสาทอำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม อันดับที่ 20 รถยนต์บรรทุกโตโยต้า หมายเลขทะเบียน น.ฐ. 10346 อันดับที่ 22 เงินส่งประกันชีวิต อันดับที่ 23 ของใช้ในบ้านอันดับที่ 24 สิทธิการเช่าแผงลอย 2 แผง อันดับที่ 26 ตึกแถวจำเลยซื้อใหม่ อันดับ 27เงินให้กู้ยืมมีรถยนต์เป็นประกันอันดับ 28 เงินให้กู้ยืมมีที่ดินผ่อนส่งธนาคารกสิกรไทยเป็นประกันอันดับที่ 29 โทรศัพท์ติดตั้งบ้านเลขที่ 49/9 ซอยสงวนสิทธิ์ อำเภอเมืองนครปฐมจังหวัดนครปฐม อันดับที่ 32 สิทธิคิวรถวิ่งระหว่างวิทยาลัยครูกับตลาดนครปฐม ทรัพย์รายการใดแบ่งกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องจำเลยดังต่อไปนี้คือ อันดับที่ 7 สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท อันดับที่ 8 พระเลี่ยมทอง10 องค์ อันดับที่ 16 พระพุทธรูปบูชาหลวงพ่อเงิน อันดับที่ 17พระพุทธรูปบูชาหลวงพ่อรุ่ง อันดับที่ 18 พระพุทธรูปบูชาประจำวันอุ้มบาตร อันดับที่ 19 พระพุทธรูปบูชาปางสุโขทัย เชียงแสนแสนสุขอันดับที่ 20 พระพรหม 1 องค์ อันดับที่ 21 พระสังกัจจายน์ นางกวัก และอื่น ๆ ให้ตกได้แก่โจทก์ ส่วนทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องจำเลยอันดับที่ 25 (บัญชีท้ายฟ้องโจทก์อันดับที่ 34) คือ ที่ดินจัดสรรทหารอากาศโฉนดที่ 36357 ตำบลออเงิน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานครซึ่งขายไปแล้วนั้น ไม่ต้องนำมาแบ่งใหม่แก่ฝ่ายใดอีกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสครั้งแรกในปี พ.ศ. 2497 แล้วหย่าขาดกันต่อมาในปี พ.ศ. 2510 โจทก์จำเลยจึงได้จดทะเบียนสมรสเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2520 โจทก์ได้ทำร้ายจำเลยทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะเป็นสามีภริยากันต่อไปจึงไปทำความตกลงกันที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐม โดยให้เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครปฐมทำบันทึกว่า โจทก์จำเลยจะหย่าขาดจากกันและจะแบ่งทรัพย์สินกันตามบันทึกดังกล่าว ปรากฏรายละเอียดตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมายจ.21 หรือ ล.1 ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 โจทก์ได้ฟ้องขอหย่าจำเลยและให้แบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์ตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์ ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยก็ยื่นฟ้องโจทก์ขอให้บังคับโจทก์ปฏิบัติตามข้อตกลงตามบันทึกเอกสารหมาย จ.21หรือ ล.1 พร้อมกับขอให้ศาลพิพากษาว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารท้ายฟ้องคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องหมายเลข 2 ของจำเลยเป็นทรัพย์ของจำเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.1 จะใช้บังคับโจทก์ให้โอนทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาทั้งหมดให้แก่จำเลยได้หรือไม่พิเคราะห์บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวซึ่งมีข้อความว่าโจทก์จำเลยยินดีจะหย่าขาดจากสามีภริยาต่อกันโดยมีข้อตกลงกันดังนี้(1) โจทก์ตกลงขายรถยนต์โตโยต้าโคโรน่าที่โจทก์ใช้อยู่เงินที่ขายได้จะแบ่งให้แก่โจทก์ 20,000 บาท โดยจำเลยจะจ่ายให้ทันที10,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยจะจ่ายเป็นเช็คเงินสดให้อีก 10,000 บาทมีกำหนด 1 เดือน (2) ที่ดิน 1 ไร่ตั้งอยู่ในเขตบางเขนที่ซื้อจากสวัสดิการทหารอากาศโจทก์ยกให้จำเลย (3) โจทก์จะอุปการะบุตรชาย2 คน โดยฝ่ายจำเลยจะออกเงินผ่อนชำระค่าที่ดินกิโลเมตร 26 ดอนเมืองเดือนละ 1,003 บาท และฝ่ายโจทก์ยินยอมให้เปลี่ยนเป็นชื่อของจำเลยแทนชื่อโจทก์ฝ่ายโจทก์ยินยอมดังกล่าวไม่ติดใจเรื่องอื่นอีก ทั้งสองฝ่ายเข้าใจดีแล้วและฝ่ายโจทก์จะไม่เรียกร้องใด ๆ อีกทั้งสิ้นบันทึกดังกล่าวนี้มีร้อยตำรวจโทสุเมธ จิตติวนาการ และจ่าสิบตำรวจจารึก ลี้ไพบูลย์ เป็นพยาน ประกอบกับพฤติการณ์ที่โจทก์จำเลยให้เจ้าพนักงานตำรวจทำขึ้นเป็นหลักฐานหลังจากที่โจทก์ทำร้ายจำเลยแล้วทำให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าไม่ประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยากันต่อไปจึงต้องทำบันทึกนั้นขึ้นเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหย่าประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็เพื่อให้จำเลยไม่ติดใจเอาความโจทก์โจทก์จึงยินยอมให้จำเลยได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เป็นการตอบแทนเมื่อข้อเท็จจริงตามบันทึกดังกล่าวมิได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอันจะเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลใช้เป็นหลักฐานแห่งการหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง ประการหนึ่งและยังใช้บังคับในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามบันทึกนั้นได้อีกประการหนึ่ง แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะเป็นข้อตกลงให้แบ่งทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก็ตาม แต่ข้อตกลงเรื่องการหย่าและข้อตกลงเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในลักษณะเช่นนี้เป็นข้อตกลงที่แบ่งแยกจากกันมิได้ จึงมิได้เป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอย่างเดียวโดยตรงอันจะมีผลทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469ดังนั้น ที่โจทก์แก้ฎีกาว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้มีหนังสือบอกล้างข้อตกลงดังกล่าวนั้นแล้ว แม้จะได้ความจริงดังที่โจทก์ว่า การบอกล้างของโจทก์ก็หามีผลไม่หากจำเลยมิได้ตกลงยินยอมด้วย จำเลยจึงมีสิทธิที่จะนำเอาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นหลักฐานในการฟ้องหย่าและบังคับให้โจทก์ยกทรัพย์สินตามบันทึกดังกล่าวนั้นให้แก่จำเลยได้ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกันโดยไม่บังคับให้โจทก์ยกทรัพย์ตามข้อตกลงให้แก่จำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น แต่สำหรับข้อตกลงข้อ (1) ข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์โตโยต้าโคโรน่าตามข้อตกลงโจทก์ยังใช้อยู่มิได้ขายตามข้อตกลงส่วนจำเลยก็ชำระเงินให้โจทก์ไปเพียง 10,000 บาทดังนั้น เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิได้กำหนดถึงกรณีที่มิได้ขายรถไว้ว่าคู่กรณีตกลงกันอย่างไร จึงต้องตีความโดยนัยที่จะทำให้เป็นผลบังคับได้ เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์จะได้เงินจากการขายรถเพียง 20,000 บาทเงินส่วนที่เหลือจากการขายเป็นของจำเลยทั้งหมด เมื่อไม่มีการขายรถจำเลยจึงควรจะเป็นผู้มีสิทธิจัดการเกี่ยวกับรถนั้นโดยชำระเงินส่วนที่เหลือตามข้อตกลงจำนวน 10,000 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องส่งมอบรถให้แก่จำเลย ส่วนทรัพย์สินตามข้อตกลงข้อ(2) ได้ความว่าขายไปแล้ว และไม่ปรากฏว่าฝ่ายโจทก์นำเงินที่ขายได้ไปใช้ประโยชน์ฝ่ายเดียว จึงไม่อาจบังคับตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ทรัพย์ตามบัญชีท้ายคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของจำเลยจะตกได้แก่ฝ่ายใดเพียงใดนั้น สำหรับในข้อที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อมีการทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.21 และ ล.1 บรรดาทรัพย์สินอื่นทั้งหมดนอกจากตามบันทึกตกลงก็จะตกเป็นของจำเลยด้วย เพราะโจทก์ตกลงว่าโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลยแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความแต่เพียงว่าโจทก์จะไม่เรียกร้องใด ๆ อีกทั้งสิ้น จึงมิได้มีความหมายว่าโจทก์ตกลงยกทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ทรัพย์อันดับที่ 1 จำเลยซื้อมาใช้ส่วนตัวของจำเลย ส่วนทรัพย์อันดับที่ 2, 3, 4, 5, 6, 9, 11, 12, 13, 14,15, 22, 29, 30, 31 (แท็งก์น้ำ 3 ลูก), 32, 33, 34 และ 35 เป็นทรัพย์สินเครื่องใช้ที่จำเลยซื้อมาใช้ภายในบ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 7ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินที่โจทก์ยกให้จำเลยตามบันทึกข้อตกลง ส่วนทรัพย์อันดับที่16, 17, 18, 19, 20 และ 21 เป็นทรัพย์ที่ได้มาภายหลังจากที่ตกลงหย่าขาดกันจึงตกเป็นของจำเลยนั้นเห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยมาแล้วว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.1 จะใช้บังคับทรัพย์สินนอกจากที่ปรากฏในบันทึกข้อตกลงนั้นไม่ได้เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างนั้นจึงต้องเป็นสินสมรสที่จะต้องนำมาแบ่งครึ่งกันระหว่างโจทก์จำเลย ส่วนทรัพย์อันดับที่ 7และ 8 คือสร้อยคอทองคำและพระเครื่องที่จำเลยฎีกาว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยซื้อมาให้แก่โจทก์ระหว่างสมรสนั้น เห็นว่า สร้อยคอทองคำและพระเครื่องดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่เป็นเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะของโจทก์โดยเฉพาะจึงเป็นสินส่วนตัว สำหรับทรัพย์อันดับที่ 10 คือสุกรที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำไปขายหลังจากที่จำเลยออกจากบ้านไปในราคา 100,000 บาทนั้น ตามทางนำสืบของโจทก์กลับได้ความว่าเงินค่าขายสุกรได้ชำระค่าอาหารสุกรไปทั้งหมด โดยผู้ขายอาหารสุกรไปรับเงินจากผู้ซื้อโดยตรง จึงไม่มีเงินเหลือเป็นสินสมรสสำหรับอันดับที่ 27 และ 28 เป็นทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีทรัพย์สินท้ายฟ้องของโจทก์ จะได้ไปรวมวินิจฉัยในประเด็นต่อไป ฎีกาของจำเลยทั้งหมดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องของโจทก์จะตกได้แก่ฝ่ายใดเพียงใดนั้น ที่จำเลยฎีกาว่าทรัพย์อันดับ 1 คือที่ดินไร่อ้อยกำแพงแสนเป็นของจำเลย โดยจำเลยได้มาจากเงินที่ขายทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลยไป จึงเป็นสินส่วนตัวเห็นว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จึงมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับทรัพย์อันดับที่ 2, 3 (คือทรัพย์อันดับที่ 27, 28ตามบัญชีทรัพย์สินท้ายคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องของจำเลย) ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยได้มาหลังจากตกลงหย่าขาดตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.1 แล้วนั้น เห็นว่า แม้ทรัพย์สินดังกล่าวจะได้มาหลังจากมีการตกลงจะหย่ากันดังกล่าวแล้วก็ตาม เมื่อยังไม่มีการหย่า ทรัพย์นั้นต้องเป็นสินสมรส สำหรับทรัพย์อันดับ 4, 5 นั้นที่จำเลยฎีกาว่าเป็นของมารดาจำเลยนั้น เห็นว่า เฉพาะทรัพย์อันดับที่5 นั้น ปรากฏตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 159/2506คดีหมายเลขแดงที่ 147/2506 ของศาลชั้นต้น ว่าโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับว่าบ้านเป็นของนางแจง แสงประทุม แล้วทรัพย์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นสินสมรสที่โจทก์จะมาแบ่งกับจำเลยส่วนทรัพย์อันดับ 4 ไม่มีการตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบพิสูจน์ว่าไม่เป็นสินสมรสจึงต้องฟังว่าเป็นสินสมรส สำหรับทรัพย์อันดับที่ 11 ซึ่งเป็นเงินแชร์จำนวน 13,000 บาทนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยแล้ว จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยจะยกขึ้นฎีกาไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 สำหรับทรัพย์อันดับ 12 เงินรายได้อ้อยจำนวน20,000 บาท ที่จำเลยฎีกาว่าในปี พ.ศ. 2521 จำเลยทำไร่อ้อยขาดทุนนั้น เห็นว่า จำเลยเบิกความลอย ๆ แต่เพียงว่า ในปี พ.ศ. 2521จำเลยทำไร่อ้อยขาดทุน โดยไม่มีหลักฐานอย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าจะขาดทุนจริง สำหรับทรัพย์อันดับที่ 14, 15 เงินค่าขายสุกรงวดแรกและงวดหลังและอันดับที่ 16, 17 เงินค่าขายเป็ดและไข่เป็ดที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เป็นคนขายสุกรงวดหลังแล้วไม่ส่งให้แก่จำเลย100,000 บาทจึงอยู่ที่โจทก์ ส่วนเงินค่าขายเป็ดจำเลยนำเงินที่ขายได้ไปชำระเป็นค่าอาหารหมดแล้วและจำเลยไม่เคยขายไข่เป็ดนั้นเห็นว่า แม้จำเลยจะมีนางสาวอรุณรัตน์ มารยาตร์ เบิกความว่าเมื่อจำเลยหนีออกจากบ้าน โจทก์ได้เริ่มขายทรัพย์สินภายในบ้านและขายสุกรนั้น แต่นางสาวอรุณรัตน์ก็มิได้ยืนยันว่า โจทก์ขายสุกรไปจำนวนเท่าใด และได้เงินจำนวนเท่าใด ส่วนในเรื่องขายเป็ดและไข่เป็ดก็เช่นกันจำเลยคงเบิกความลอย ๆ ว่าจำเลยนำเงินค่าขายเป็ดไปชำระเป็นค่าอาหารเป็ดหมดเท่านั้น เมื่อโจทก์มีนายประชิต มารยาตร์ บุตรโจทก์จำเลยเบิกความยืนยันว่าได้ไปขายสุกรและเป็ดกับจำเลยทั้งหมด พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ฟังได้ว่า จำเลยได้ขายสุกรและเป็ดทั้งหมดไป แม้จำเลยจะอ้างว่านำเงินที่ขายเป็ดไปชำระเป็นค่าอาหารเป็ดก็ไม่มีน้ำหนักจะรับฟังได้ เชื่อว่าเงินค่าขายสุกรและขายเป็ดอยู่ที่จำเลยแต่เฉพาะเงินค่าขายสุกรทรัพย์อันดับที่ 15 โจทก์เองเบิกความรับว่าเงินจากค่าขายสุกรได้ทั้งหมดชำระค่าอาหารสุกรไป จึงไม่มีเงินค่าขายสุกรทรัพย์อันดับที่ 15 ซึ่งจำเลยจะต้องแบ่งให้แก่โจทก์สำหรับทรัพย์อันดับที่ 20, 22, 23, 24, 25, 26, 27, 28, 29,32 และ 33 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสแล้ว แต่ตกเป็นของจำเลยตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.1 หรือให้แบ่งครึ่งระหว่างโจทก์จำเลย จำเลยไม่อุทธรณ์ ในปัญหาว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือไม่จึงยุติไปแล้วจำเลยจะฎีกาในชั้นนี้ว่า ทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่เป็นสินสมรสไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับทรัพย์อันดับที่ 30 ก็เช่นกันเมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยซื้อสิทธิการเช่ามา จะแบ่งให้โจทก์ไม่ได้ โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะฎีกาไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สรุปแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.1 มิใช่เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาโดยตรงที่โจทก์จะบอกล้างได้ สัญญาดังกล่าวนี้มีผลใช้บังคับเฉพาะทรัพย์สินที่ปรากฏอยู่ในบันทึกเมื่อมีการหย่าขาดจากกันเท่านั้น จะนำไปใช้บังคับแก่ทรัพย์สินอื่นที่มีอยู่ก่อนและได้มาหลังข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ ในกรณีที่โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกันเช่นนี้โจทก์จึงต้องแบ่งทรัพย์สินให้แก่จำเลยตามข้อตกลงที่ศาลอุทธรณ์ไม่ให้โจทก์แบ่งทรัพย์สินตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้จำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา สำหรับทรัพย์สินอื่นตามบัญชีท้ายคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ให้แบ่งทรัพย์อันดับที่ 1 ถึง 6, 9, 11 ถึง 15, 22, 29, 30, 31 (แท็งก์น้ำ3 ลูก) และ 32 ถึง 35 ซึ่งเป็นสินสมรสฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ส่วนทรัพย์อันดับที่ 7, 8 เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ชอบแล้ว และทรัพย์สินอื่นตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ให้แบ่งทรัพย์อันดับที่ 1,2, 3, 4, 11, 12, 14, 16, 17, 20, 22 ถึง 29, 32 และ33 ซึ่งเป็นสินสมรสให้แบ่งฝ่ายละกึ่งหนึ่งชอบแล้ว ส่วนทรัพย์อันดับที่ 16 ถึง 21 ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องจำเลยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสินสมรสจึงต้องแบ่งให้แก่โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ส่วนที่จำเลยขอให้โจทก์ออกจากทรัพย์อันดับที่ 27 (อันดับที่ 2 ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องโจทก์) นั้น เมื่อวินิจฉัยว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสแล้วโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์รายนี้และส่วนเท่ากันจำเลยย่อมไม่มีสิทธิขับไล่โจทก์ออกจากทรัพย์ดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นเป็นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกัน หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาตามคำขอท้ายฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า การจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1531วรรคสอง คู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนหย่าต่อนายทะเบียน ทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478มาตรา 16 ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าไว้ในทะเบียนเท่านั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งตามคำขอดังกล่าว”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์แบ่งทรัพย์อันดับที่ 1 คือรถยนต์โตโยต้าโคโรน่า หมายเลขทะเบียน น.ฐ.11319 ให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยชำระเงินตอบแทนแก่โจทก์ 10,000 บาท หากแบ่งไม่ได้ให้โจทก์ชดใช้ราคา 60,000 บาท ให้โจทก์โอนที่ดินผ่อนส่งกิโลเมตรที่ 26 ดอนเมือง ทรัพย์อันดับที่ 3 ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.21 หรือ ล.1 ให้แก่จำเลย หากไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์อันดับที่ 15 และอันดับที่ 5 เฉพาะบ้านเลขที่ 49/9 ซอยสงวนสิทธิ์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐมไม่ต้องนำมาแบ่งให้แก่ฝ่ายใดให้แบ่งทรัพย์อันดับที่ 16 ถึง 21 ตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารท้ายฟ้องจำเลยแก่โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง หากตกลงกันไม่ได้ให้นำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน ให้ยกคำขอของจำเลยที่ให้โจทก์จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากกันและข้อที่ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์จำเลยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์