คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 237/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามหนังสือมอบอำนาจ ธ. มีอำนาจเต็มในการขายรถยนต์ให้เช่าซื้อรถยนต์ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ อำนาจเช่นนี้ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจในการลดราคาขายหรือราคาเช่าซื้อหรือลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย ดังนั้น การที่ ธ. ลดค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามจำนวนที่ลดลงให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์หามีสิทธิยึดรถยนต์คันพิพาทและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ไม่เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ ธ. ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ค้างชำระแล้ว เท่ากับคู่กรณีได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อให้แก่กันโดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาเดิมที่ให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วใช้ข้อสัญญาใหม่ดังกล่าวมานั่นเอง ข้อสัญญาใหม่นี้มีผลผูกพันคู่กรณีเพราะเป็นข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อหลายครั้งหลายคราวจนกระทั่งกำหนดเวลาในสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง และโจทก์ได้ยึดรถยนต์คืน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 359,568.11 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเท่ากับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปีในต้นเงิน 355,129 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ให้แก่โจทก์ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ทำการโอนชื่อทางทะเบียนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่โจทก์เพิกเฉยต่อมาโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้ทำการยึดรถยนต์ดังกล่าวไปทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้ศาลยกฟ้องโจทก์และบังคับให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์และโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 และชำระค่าเสียหายวันละ 3,000 บาท นับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์ไปจากจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์แก่โจทก์ไม่ครบถ้วนและจำเลยที่ 1 ไม่เคยแจ้งให้โจทก์โอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ยึดรถยนต์คืนโดยชอบด้วยกฎหมายมิได้กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์ฮีโน่รุ่น เคที 725 ดับบลิว/ซี หมายเลขเครื่อง อีเฮซ 700-61573และโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่จำเลยที่ 1 หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา300,000 บาท นับแต่วันที่ไม่อาจส่งคืนได้ และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 8,000 บาท นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2527เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 หรือจนกว่าถึงเวลาที่โจทก์ต้องชดใช้ราคาแก่จำเลยที่ 1 โจทก์และจำเลยที่ 1อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจากการที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบรับกันฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจากโจทก์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2524 ในราคา724,000 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่26 กันยายน 2524 โจทก์ให้จำเลยที่ 2 โอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 สัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันดังกล่าวทำที่บริษัทโจทก์ สาขาตะพานหิน ในขณะที่นายประสิทธิ์ พงษ์ไพจิตร เป็นผู้จัดการสาขาต่อมาโจทก์ได้แต่งตั้งให้นายธนิต หมอกเรืองใส เป็นผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาตะพานหินแทนนายประสิทธิ์และได้มอบอำนาจให้นายธนิตมีอำนาจเต็มในสาขาตะพานหินในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์ รวมทั้งทำนิติกรรมการขายรถยนต์ให้เช่าซื้อรถยนต์ทุกชนิด ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และปรากฏว่าจำเลยที่ 1ค้างชำระค่าเช่าซื้อประมาณ 300,000 บาท นายธนิตได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อที่ค้างให้จำเลยที่ 1 คงเหลือเป็นเงิน 270,000 บาทซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยึดรถยนต์คันพิพาทไปจากจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อ ปัญหาประการแรกที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า นายธนิตมีอำนาจลดค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจ นายธนิตมีอำนาจเต็มในการขายรถยนต์ ให้เช่าซื้อรถยนต์ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์อำนาจเช่นนี้ย่อมหมายความรวมถึงอำนาจในการลดราคาขายหรือราคาเช่าซื้อหรือลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระด้วย ดังนั้น การที่นายธนิตลดค่าเช่าซื้อที่ค้างอยู่ทั้งหมดลงคงเหลือ 270,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 นั้น จึงเป็นการกระทำตามที่ได้รับมอบอำนาจมาจากโจทก์เมื่อนายธนิตลดค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โจทก์หามีสิทธิยึดรถยนต์คันพิพาทและฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ไม่เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาเช่าซื้อ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นที่โจทก์ฎีกาว่าการที่นายธนิตกับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงแก้ไขค่าเช่าซื้อที่ค้างไม่ผูกพันโจทก์ เพราะการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ทำเป็นหนังสือตามที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าซื้อนั้น เห็นว่าข้อสัญญาใด ๆ ที่คู่กรณีได้ทำขึ้น คู่กรณีสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขและตกลงทำข้อสัญญาใหม่ได้ เมื่อข้อสัญญาที่ทำขึ้นใหม่นั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สำหรับคดีนี้นายธนิตผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 1ได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ได้ชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดที่ค้างชำระแล้ว เท่ากับคู่กรณีได้ตกลงลดค่าเช่าซื้อให้แก่กันโดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อสัญญาเดิมที่ให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วใช้ข้อสัญญาใหม่ดังกล่าวมานั่นเอง ข้อสัญญาใหม่นี้มีผลผูกพันคู่กรณีเพราะเป็นข้อสัญญาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share