คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2912/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ และขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ขู่เข็ญผู้เสียหายไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 แต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้อง เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83, 334, 335, 339, 340 ตรี บวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1412/2545 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339 วรรคแรก, 340 ตรี จำคุกคนละ 12 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 141/2545 (ที่ถูก 1412/2545) ของศาลชั้นต้น คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี 6 เดือน
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืน โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย และแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติ คดีมีปัญหาเฉพาะจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องประการหนึ่ง และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในสถานเบาอีกประการหนึ่ง สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ในประการแรกที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตามฟ้องนั้น… พยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยทั้งสองได้ขู่เข็ญผู้เสียหายโดยพูดข่มขู่ว่าจะฆ่าจริงหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โดยฟังได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองได้ขู่เข็ญผู้เสียหายโดยกล่าวอ้างแสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและขู่ว่าจะยัดยาบ้าให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองที่ขู่เข็ญผู้เสียหายจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย อันจะเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาแต่เข้าลักษณะเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้จำเลยทั้งสองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของผู้เสียหายผู้ถูกขู่เข็ญ อันเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ซึ่งแม้ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความจะแตกต่างจากที่โจทก์กล่าวในฟ้องก็ตาม แต่การชิงทรัพย์และกรรโชกก็เป็นการขู่เข็ญเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเช่นเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในสาระสำคัญ อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องยกฟ้องเมื่อจำเลยทั้งสองไม่หลงต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันกรรโชกตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบวรรคสอง และมาตรา 215 ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง การที่พยานหลักฐานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพียงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชก และศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแตกต่างจากฟ้องได้เช่นนี้ ถือเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาให้ได้ลดโทษด้วยดุจจำเลยที่ 2 ผู้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
เมื่อผลแห่งการวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชก ซึ่งศาลฎีกาจำต้องปรับบทและกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ตามความผิดฐานใหม่ที่พิจารณาได้ความ คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์หนักเกินไป ขอให้ลงโทษในสถานเบาอีกแต่อย่างใด”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1412/2545 ของศาลชั้นต้น เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก

Share