แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงว่า แม้คำให้การของจำเลยที่ให้ไว้แก่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้อยตำรวจตรี ส. จะขัดแย้งกับคำให้การที่เคยให้ไว้แก่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยในคดีที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ จึงไม่เป็นการให้การเท็จ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด แต่กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ขึ้นฎีกาซ้ำอีก ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคแรก ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ฟ้องโจทก์บรรยายแยกออกได้เป็นสองตอน ตอนแรกบรรยายข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลยว่า จำเลยเคยให้การต่อพันตำรวจโท จ. และร้อยตำรวจเอก ย. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าร้อยตำรวจตรี ส. นำเลื่อยยนต์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ส่วนในตอนที่สองบรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอก บ. กับพวกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการว่าร้อยตำรวจตรี ส. มิได้นำเลื่อยยนต์ให้กับจำเลยและผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ซึ่งไม่ตรงกัน แม้คำฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอก บ. กับพวก ดังนั้น จึงเป็นอันเข้าใจว่าโจทก์ถือว่าความจริงเป็นไปตามข้อความที่จำเลยแจ้งแก่พันตำรวจโท จ. และร้อยตำรวจเอก ย. คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าร้อยตำรวจตรี ส. นำเลื่อยยนต์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยแจ้งแก่พันตำรวจโทจรัล อังสนั่น และร้อยตำรวจเอกยงยุทธ นิ่มปานพยุงวงศ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงความผิดทางวินัยว่า ร้อยตำรวจตรีสนวน แสนพวง รองสารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจภูธร อำเภอห้วยผึ้ง มีพฤติการณ์นำเลื่อยยนต์พร้อมอุปกรณ์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อนำไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ และให้พันตำรวจโทจรัล และร้อยตำรวจเอกยงยุทธจดข้อความดังกล่าวลงในบันทึกถ้อยคำพยาน อันเป็นเอกสารทางราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้พยานหลักฐาน ต่อมาจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอกบำรุง วงศ์อนันต์ กับพวกในฐานะคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย อันเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกถ้อยคำพยานอันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่า ร้อยตำรวจตรีสนวนมิได้มีพฤติการณ์นำเลื่อยยนต์พร้อมอุปกรณ์มอบให้จำเลยกับผู้มีชื่อนำไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่พันตำรวจโทจรัล ร้อยตำรวจเอกยงยุทธ ผู้อื่นหรือประชาชนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 137, 267
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 จำคุก 3 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า อุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้องได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งแล้วนั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงว่า แม้คำให้การของจำเลยที่ให้ไว้แก่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้อยตำรวจตรีสนวนจะขัดแย้งกับคำให้การที่เคยให้ไว้แก่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยในคดีที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ จึงไม่เป็นการให้การเท็จ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด แต่จำเลยกลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ขึ้นฎีกาซ้ำอีก ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคแรก ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ได้ ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า ข้อความที่จำเลยแจ้งแก่เจ้าพนักงานข้อความใดเป็นเท็จและความจริงเป็นอย่างไร ฟ้องโจทก์ข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องแล้วโจทก์บรรยายฟ้องแยกออกได้เป็นสองตอน ตอนแรกบรรยายข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลยว่าจำเลยเคยให้การต่อพันตำรวจโทจรัล และร้อยตำรวจเอกยงยุทธ คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าร้อยตำรวจตรีสนวนนำเลื่อยยนต์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ส่วนในตอนที่สองบรรยายฟ้องว่า จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอกบำรุงกับพวกคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยข้าราชการว่า ร้อยตำรวจตรีสนวนมิได้นำเลื่อยยนต์ให้กับจำเลยและผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ซึ่งไม่ตรงกัน แม้คำฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ปรากฏตามคำฟ้องโจทก์ว่าจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจเอกบำรุงกับพวก ดังนั้น จึงเป็นอันเข้าใจว่าโจทก์ถือว่าความจริงเป็นไปตามข้อความที่จำเลยแจ้งแก่พันตำรวจโทจรัลและร้อยตำรวจเอกยงยุทธคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ร้อยตำรวจตรีสนวนนำเลื่อยยนต์ให้จำเลยกับผู้มีชื่อไปรับจ้างตัดเลื่อยไม้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่พอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน