แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้มีอำนาจยื่นคำคัดค้านตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2522 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในเงินของกลางเท่านั้น ผู้ครอบครองเงินของกลางซึ่งแม้จะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของเงินก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอเงินของกลางนั้นได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กรณีปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า ธนบัตรฉบับละ 500 บาท และ 100 บาท รวม 1,925,000 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพญาไทยึดได้จากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ธนบัตรจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกผลที่เกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนธนบัตรตามคำร้องของผู้ร้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการประกอบอาชีพสุจริต ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ธนบัตรตามคำร้องของผู้ร้อง เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งได้มาจากการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 ได้นำไปใช้ในกิจการส่วนตัวโดยนายสุรินทร์ กรรมการของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ทราบเรื่อง ขอให้คืนธนบัตรดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้ธนบัตรจำนวน 1,925,000 บาทพร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่า นายสุรินทร์ กรรมการของผู้คัดค้านที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2545 พันตำรวจโทสุภัคกับพวกจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 และยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาท และ 100 บาท รวม 1,925,000 บาท พร้อมกระเป๋าเดินทางที่ใช้บรรจุธนบัตรนั้นกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน พฮ 5566 กรุงเทพมหานคร เป็นของกลาง กล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฟอกเงิน ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.ร.6 จากนั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2545 ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อแจ้งให้ทราบถึงพฤติการณ์ในการดำเนินคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามหนังสือของสถานีตำรวจนครบาลพญาไทเอกสารหมาย ร.2 ต่อมากองพิสูจน์หลักฐานตรวจพบเมทแอมเฟตามีนติดอยู่ที่ธนบัตรและกระเป๋าเดินทางของกลางและมีปริมาณน้อยไม่อาจชั่งหาน้ำหนักได้ พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อหาผู้คัดค้านที่ 1 เพิ่มเติม ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547 สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 3 มีหนังสือแจ้งให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของกลางตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 วันที่ 3 พฤษภาคม 2547 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินออกคำสั่งมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อดำเนินการตรวจสอบการทำธุรกรรมและทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก วันที่23 มิถุนายน 2547 คณะกรรมการธุรกรรมมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดธนบัตรของกลางไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 วันที่ 5 สิงหาคม 2547 คณะกรรมการธุรกรรมมีมติว่า ธนบัตรของกลางเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ธนบัตรของกลางตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนคดีที่กล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดฐานฟอกเงินและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องตามคำพิพากษาเอกสารหมาย ค.15 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ประการแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้หรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่าแม้เงินของกลางจำนวน 1,925,000 บาท จะเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 แต่เงินของกลางดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งยังคงต้องผูกพันรับผิดชอบในเงินจำนวนนี้ต่อผู้คัดค้านที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการ
ฟอกเงิน พ.ศ.2522 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า
(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือ…สาธารณะ” เช่นนี้ผู้มีอำนาจยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในเงินของกลางเท่านั้น หากเป็นเพียงผู้ครอบครองเงินของกลางซึ่งแม้จะต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของเงินนั้นก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอเงินของกลางนั้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า เงินของกลางไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 เท่านั้นและมีคำสั่งไม่รับฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 เช่นนี้คดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปัญหาตามฎีกาดังกล่าวจึงเป็นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี ดังนั้นกรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเงินของกลางเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ