คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11714/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 3 เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ส่วนตามสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ม. นั้น ม. จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลาซึ่งจำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากจำเลย 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 และคดีที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย ศาลมีวินิจฉัยถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ ม. รับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันสำหรับเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้ว จำเลยที่ 2 ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ การที่จำเลยที่ 2 ละเลยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นย่อมเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 เอง จะยกเอามาเป็นข้ออ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดที่จะต้องคืนเงินให้แก่ ม. หรือแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ม. มิได้ เมื่อ ม. หรือโจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่จำเลยที่ 3 ได้ เพราะเป็นสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระจะเรียกร้องเอาได้
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานละเมิด แต่มิได้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ ม. รู้ถึงการละเมิด คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวในอุทธรณ์ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้วและถือว่าประเด็นเรื่องอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์สีพร้อมอุปกรณ์และส่วนควบครบชุดในราคา 12,490,000 บาท จากจำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมผูกพันตนต่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 1,249,000 บาท ในเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาซื้อขายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 และมีนางมาลี ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมผูกพันตนต่อจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยให้ถือเอาเงินในบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำของนางมาลีซึ่งได้ฝากจำเลยที่ 2 ไว้ ตามบัญชีเลขที่ 658-2-03335-0 เป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันอ้างว่า จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลา จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบเสียก่อนว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายจริงหรือไม่ ทั้งที่ในขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังมีข้อพิพาทเป็นคดีความกับจำเลยที่ 3 และในเวลาต่อมาศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย โดยจำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 658-2-03335-0 จำนวน 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นางมาลีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามจำนวนที่ได้รับชำระจากจำเลยที่ 2 คืนให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ทั้งที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มีหน้าที่ชำระเงินตามจำนวนที่หักจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 658-2-03335-0 คืนแก่กองมรดกของนางมาลีแต่กลับไม่ชำระ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลี ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,030,480.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,249,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่คืนเงินให้แก่จำเลยที่ 2 แต่มีหน้าที่คืนเงินให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และคดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ นางมาลีและจำเลยที่ 3 ไม่เคยแจ้งต่อจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายและไม่เคยสั่งห้ามจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 หากนางมาลีได้รับความเสียหาย โจทก์ก็ชอบที่จะเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 3 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 คดีจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 3 ไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 1,249,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 2 มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์สีขนาด 10 กิโลวัตต์ 2 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์และส่วนควบครบชุดในราคา 12,490,000 บาท จากจำเลยที่ 3 ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 3 เสนอหนังสือสัญญาค้ำประกันเลขที่ 0615/575 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2528 ของจำเลยที่ 2 ต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งมีใจความว่า จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนต่อจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้เป็นเงินไม่เกิน 1,249,000 บาท ในเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาซื้อขายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ตามสำเนาสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.10 วันที่ 2 พฤษภาคม 2533 นางมาลี ทำหนังสือค้ำประกันโดยยอมผูกพันตนต่อจำเลยที่ 2 เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยให้ถือเอาเงินในบัญชีเงินฝากประเภทฝากประจำของนางมาลีซึ่งได้ฝากจำเลยที่ 2 ไว้ ตามบัญชีเลขที่ 658-2-03335-0 เป็นประกันตามสำเนาหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย ระหว่างคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายเพราะไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลาตามหนังสือฉบับลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2535 และวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 เอกสารหมาย ล.12 และ ล.13 วันที่ 27 สิงหาคม 2535 จำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 658-2-03335-0 จำนวน 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ตามสำเนาเช็คและสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.14 รวมทั้งหักเป็นค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันอีก 3,122.50 บาท ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวต่อนางมาลีตามหนังสือลงวันที่ 2 กันยายน 2535 เอกสารหมาย จ.22 แผ่นแรก วันที่ 17 พฤษภาคม 2537 จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายฟ้องจำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย สำหรับคดีที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดนัดเพราะเหตุลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้แล้ว ไม่รับชำระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ ส่วนคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2541 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าปรับได้ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามจำนวนที่ได้รับชำระจากจำเลยที่ 2 คืนให้แก่จำเลยที่ 3 ตามสำเนาเช็คและสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.24 และ จ.25 นางมาลีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางมาลีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2538 ตามสำเนาคำสั่งเอกสารหมาย จ.34
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องชำระเงินตามจำนวนที่หักจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 658-2-03335-0 ของนางมาลีคืนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีใจความว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาซื้อขายเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยที่ 3 ส่วนข้อตกลงในหนังสือค้ำประกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับนางมาลีมีใจความว่า นางมาลีจะต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาซื้อขายและจำเลยที่ 2 จำต้องรับผิดชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 ส่งหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันโดยอ้างว่าจำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายโดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายตามกำหนดเวลาซึ่งจำเลยที่ 2 หักเงินจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 658-2-03335-0 จำนวน 1,249,000 บาท นำไปชำระให้แก่จำเลยที่ 1 นั้น ต่อมาคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 3 และคดีที่จำเลยที่ 3 ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสัญญาซื้อขาย ศาลฎีกาวินิจฉัยในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นฝ่ายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาซื้อขาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 3 ซึ่งมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ไม่จำต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ไปโดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้นางมาลีรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกัน สำหรับเงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น จำเลยที่ 2 ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ การที่จำเลยที่ 2 ละเลยเสียไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเช่นว่านั้นย่อมเป็นความผิดของจำเลยที่ 2 เอง จะยกเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดในอันที่จะต้องคืนเงินให้แก่นางมาลีหรือแก่โจทก์มิได้ ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นางมาลีมีสิทธิเรียกร้องเงินคืนจากจำเลยที่ 3 โดยตรงเพราะจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามจำนวนที่ได้รับชำระจากจำเลยที่ 2 คืนให้แก่จำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 3 รับชำระไว้โดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวผู้ที่อาจมีสิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยที่ 3 ได้ก็คือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 3 ส่วนนางมาลีซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุดังกล่าวย่อมไม่มีสิทธิเช่นจำเลยที่ 1 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามจำนวนที่หักจากบัญชีเงินฝากเลขที่ 658-2-03335-0 พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางมาลีนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.4 ไม่เป็นสัญญาค้ำประกัน แต่เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่บังคับกันได้ระหว่างคู่กรณี ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 2 ว่า อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ในประเด็นเรื่องอายุความได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นเรื่องอายุความไว้ว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ยังมีสิทธิฟ้องเรียกร้องและติดตามเอาคืนทรัพย์ดังกล่าวจากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้ตลอดเวลา จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในประเด็นนี้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 รับผิดในฐานละเมิด แต่มิได้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นางมาลีรู้ถึงการละเมิด คดีในส่วนจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความ โดยมิได้กล่าวในอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรบ้างจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งซึ่งข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว และถือว่าประเด็นเรื่องอายุความตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าคดีขาดอายุความแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ 5,000 บาท

Share