คำวินิจฉัยที่ 50/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๐/๒๕๕๓

วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๕๓

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ ๑ วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก ที่ ๒ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๓๕๑๘/๒๕๕๑ ความว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง ก่อสร้างอาคารโรงอาหารอเนกประสงค์ ณ วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ตามสัญญาเลขที่ ๐๐๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ วงเงินค่าจ้างจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยบริการ ณ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ จังหวัดกระบี่ ตามสัญญาเลขที่ ๐๐๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ วงเงินค่าจ้างจำนวน ๘,๙๑๐,๐๐๐ บาท โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง ได้โอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารทั้งสองสัญญาดังกล่าว ซึ่งแบ่งจ่ายเป็นงวดให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ ๒ ได้ชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์จำนวน ๓ งวด แล้วชำระเงินค่าจ้างงวดที่ ๔ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง โดยโจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ ส่วนจำเลยที่ ๓ ได้ชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์จำนวน ๕ งวด แล้วชำระเงินค่าจ้างงวดที่ ๖ ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง โดยโจทก์ทราบเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๐ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๓,๐๖๐,๑๖๔.๔๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๒,๕๔๑,๖๘๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน ๑,๒๔๖,๓๓๕.๖๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๑,๐๕๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน ๑,๘๑๓,๘๒๘.๘๗ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๑,๔๙๑,๖๘๖ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้าง ซึ่งสืบเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง ก่อสร้างอาคารอันเป็นการจัดการศึกษาของชาติ มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง นอกจากนี้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่างผิดสัญญาโดยก่อสร้างล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามกำหนด จำเลยที่ ๑ จึงหักเงินค่าปรับ ค่าใช้จ่ายค้างชำระและค่าภาษี จำนวนเงินค่าจ้างในงวดสุดท้ายจึงไม่ใช่จำนวนตามฟ้อง ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง แจ้งให้จำเลยที่ ๑ โอนเงินค่าจ้างที่เหลือดังกล่าวเข้าบัญชีซึ่งมิใช่บัญชีที่เปิดไว้กับโจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยที่ ๑ ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์ของเจ้าหนี้และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มิได้เป็นนิติบุคคล โจทก์ไม่ค้าน ศาลอนุญาต
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวเป็นสัญญาที่สืบเนื่องจากจำเลยที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง ก่อสร้างอาคาร สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าว
มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะอันเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาที่พิพาทกันในคดีนี้ แม้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาดังกล่าวก็เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง โจทก์ และจำเลยที่ ๑ ด้วยใจสมัครในฐานะที่เท่าเทียมกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หาได้เป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองตกลงมอบหมายให้โจทก์ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครองแทนรัฐแต่อย่างใดไม่ ทั้งสัญญาดังกล่าวก็มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารทั้งสองฉบับระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง กับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาที่มีจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งและมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อมูลคดีนี้เป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างทั้งสองฉบับดังกล่าว การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระเงินค่าจ้างงวดสุดท้ายตามสัญญาจ้างก่อสร้างทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาอันเกี่ยวเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างทั้งสองฉบับดังกล่าว เมื่อสัญญาจ้างก่อสร้างทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จะมีมูลเหตุมาจากการทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงอาหารอเนกประสงค์และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยบริการ อันเป็นสัญญาทางปกครองก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ตามฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์ฟ้องว่า ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่ารับจ้างก่อสร้างมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่างในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโรงอาหารอเนกประสงค์ตามสัญญาเลขที่ ๐๐๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ วงเงินค่าจ้างจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท และสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยบริการตามสัญญาเลขที่ ๐๐๖/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ วงเงินค่าจ้างจำนวน ๘,๙๑๐,๐๐๐ บาท อันเป็นอาคารที่อยู่ภายในพื้นที่ของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามลำดับ เพื่อเป็นประกันในการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่างขอสินเชื่อไปจากโจทก์ โดยในการโอนสิทธิตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ทราบแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จำเลยทั้งสามกลับชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่างแทน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ ดังนั้น ประเด็นพิพาทแห่งคดีนี้จึงเป็นเพียงการฟ้องเรียกเงินตามหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น
หาใช่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารทั้งสองแห่งไม่ กรณีจึงต้องพิจารณาเพียงว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติให้สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่ตามข้อเท็จจริงสัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าจ้างก่อสร้างอาคารทั้งสองแห่งระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ กับห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่าง อันเป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นระหว่างเอกชนด้วยกัน เป็นสัญญาที่มีการกระทำขึ้นด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค อีกทั้ง เมื่อพิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์และลักษณะของสัญญาดังกล่าวแล้ว ก็มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ ๑ ในฐานะลูกหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่างได้โดยตรงเท่านั้น นอกจากนี้หนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็มิได้ระบุให้ธนาคารโจทก์มีอำนาจหรือมีสิทธิหน้าที่ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารทั้งสอง คงมีสิทธิเพียงแค่ได้รับเงินค่าจ้างที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองทิตภาภัทร์การช่างพึงมีพึงได้เท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะ หรือให้โจทก์มีสิทธิจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผลแต่อย่างใด จึงเป็นสัญญาทางแพ่งทั่วไป มิใช่สัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงเป็นเพียงคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ ๑ วิทยาลัยการอาชีพอ่าวลึก ที่ ๒ วิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share