แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตร 1 คนโดยระบุชื่อมาด้วย อายุ 1 ปี 9 เดือน ขณะผู้ตายมีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะโจทก์และบุตรโจทก์ เมื่อผู้ตายตายทำให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะดังนี้มีความหมายพอเข้าใจว่าบุตรโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรโจทก์มีอายุเพียง 1 ปี 9 เดือน ยังฟ้องเองไม่ได้ โจทก์เป็นมารดาจึงฟ้องแทน ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรโดยปริยาย
(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 458/2511)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อเด็กชายหฤษฎ์ เตชธรรมรักข์ อายุ 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังชนรถยนต์ที่ผู้ตายนั่งมาโดยละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เอาประกันภัยรถยนต์คันซึ่งจำเลยที่ 1 ขับต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 การที่ผู้ตายตายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตายเป็นเงิน 36,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปให้ตำรวจสอบสวน 3 ครั้งเป็นเงิน 1,400 บาท การที่ผู้ตายตายทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ คิดเป็นค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปีเป็นเงิน 120,000 บาท และถ้าให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะ คิดเป็นค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 1,000 บาท จนกว่าบุตรโจทก์จะบรรลุนิติภาวะ เป็นเวลา 18 ปี เป็นเงิน 216,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้น 373,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าได้เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุไว้ จำเลยที่ 1เป็นลูกจ้างขับรถ และจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยรถยนต์ดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 จริง เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเพราะความประมาทของคนขับรถยนต์คันที่ผู้ตายนั่งเพียงฝ่ายเดียว องค์การโทรศัพท์จ่ายเงินค่าจัดการศพและเงินสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทของผู้ตายเป็นที่พอใจของทายาทผู้ตายแล้ว และองค์การโทรศัพท์ได้ฟ้องใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนได้อีก ค่าจัดการศพไม่ควรเกิน 9,000 บาท ค่าสินไหมทดแทนสำหรับโจทก์และบุตรโจทก์ไม่ควรได้รวมกันเกินเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 ปี เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโจทก์เป็นสิทธิเฉพาะตัว โจทก์ฟ้องเรียกเองไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ภริยาและบุตรโจทก์ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุรถชนคดีนี้มิใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลพันธ์เจริญลพบุรี มิใช่รับประกันภัยจากจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า เหตุที่รถชนกันเป็นเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ฝ่ายเดียว แล้ววินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 2 ในเรื่องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อเด็กชายหฤษฎ์ เตชธรรมรักข์ อายุ 1 ปี 9 เดือนขณะที่ผู้ตายยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้อุปการะโจทก์และบุตรของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายทำให้บุตรโจทก์ขาดไร้อุปการะจึงขอเรียกค่าขาดไร้อุปการะของบุตรโจทก์ เช่นนี้ มีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่าบุตรโจทก์ขอเรียกค่าสินไหมทดแทนตามสิทธิของตนนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรโจทก์มีอายุเพียง 1 ปี 9 เดือน ยังฟ้องเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาและผู้แทนโดยชอบธรรมจึงฟ้องแทน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรโดยปริยาย (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 458/2511)
พิพากษายืน