แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรก แต่สาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องวิวาทกันก่อน จำเลยสู้ไม่ได้จึงพาพรรคพวกคือ ส. และ ท. มารุมทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง ที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปน่าจะเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บแล้วมากกว่า มิฉะนั้นจำเลยคงไม่พูดประโยคว่า “มึงทำกูเจ็บ ก็ต้องเอาของมึง” ซึ่งมีลักษณะเป็นการแก้แค้นจากการถูกผู้เสียหายทำร้ายมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ของผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 297, 339 และบวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2487/2544 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษในคดีนี้ กับขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน คือสร้อยคอทองคำ โทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินสด 300 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83, 335 (1) วรรคแรก เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 6 เดือน ฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาและจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิด มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ บวกโทษจำคุก 6 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2487/2544 รวมจำคุก 15 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 23,300 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ลงโทษจำคุก 10 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมโทษจำคุกฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นที่ศาลชั้นต้นลงโทษอีก 3 เดือน และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้อีก 6 เดือนแล้ว รวมจำคุก 7 ปี 5 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนที่จำเลยจะพาพรรคพวกมาทำร้ายผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องวิวาทกันมาก่อนแล้ว แต่จำเลยสู้ไม่ได้จึงวิ่งหนีไปตามพรรคพวกของจำเลยคือ นายสุรพงษ์ บุญมี และนายทรงกรต บุญมี มารุมทำร้ายผู้เสียหายโดยจำเลยใช้เหล็กแป๊บตีผู้เสียหายที่ศีรษะจนล้มลง จากนั้นจำเลย นายสุรพงษ์ และนายทรงกรตก็ร่วมกันรุมทำร้ายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บ แล้วนายสุรพงษ์และนายทรงกรตขับรถจักรยานยนต์หลบหนีไป จำเลยคงอยู่ในที่เกิดเหตุเพียงคนเดียว จำเลยเข้าไปเตะที่ใบหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง พร้อมกับพูดว่า “มึงทำกูเจ็บ ก็ต้องเอาของมึง” แล้วกระชากเอาสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำ 1 องค์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และเงินสดอีก 300 บาท ของผู้เสียหายหลบหนีไป เห็นว่า จำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะชิงทรัพย์ของผู้เสียหายมาแต่แรก แต่สาเหตุเนื่องจากผู้เสียหายกับจำเลยมีเรื่องวิวาทกันก่อน จำเลยสู้ไม่ได้จึงพาพรรคพวกคือนายสุรพงษ์และนายทรงกรตมารุมทำร้ายผู้เสียหายในภายหลัง ที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป น่าจะเป็นผลพลอยได้จากการที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บแล้วมากกว่า มิฉะนั้นจำเลยคงไม่พูดประโยคว่า “มึงทำกูเจ็บ ก็ต้องเอาของมึง” ซึ่งมีลักษณะเป็นการแก้แค้นจากการถูกผู้เสียหายทำร้ายมาก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น