คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีผู้ประกันผิดสัญญาประกันต่อศาล เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอย่างใดแล้ว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528มาตรา 4, 30, 82 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83, 91 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 10,000 บาท แก่ นางประดับ ศรีตระกูล กับคืนเงินจำนวน 7,000 บาท แก่นางช่อจิตร ชัยนาม ผู้เสียหาย ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 1 ชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและตีราคาค่าประกัน 150,000 บาท ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ผู้ประกันทั้งสองไม่สามารถนำจำเลยที่ 1 มาส่งศาลตามนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกันโดยให้ชำระค่าปรับภายใน 15 วัน ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2533 วันที่ 20 เมษายน 2533 ผู้ประกันทั้งสองโดยนายคง เย็นกลาง ผู้รับมอบฉันทะได้นำจำเลยที่ 1 ส่งศาลและยื่นคำร้องขอลดค่าปรับศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า หากผู้ประกันนำค่าปรับมาชำระภายใน7 วัน ให้ลดค่าปรับลงเหลือ 2,000 บาท
วันที่ 23 กรกฎาคม 2533 ผู้ประกันที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 2,000 บาทต่อศาลชั้นต้น และผู้ประกันทั้งสองยื่นคำร้องขอรับหลักประกันคืน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ผู้ประกันมิได้ชำระค่าปรับภายในเวลาที่ศาลกำหนดจึงไม่ลดค่าปรับให้ ไม่อนุญาต ยกคำร้อง
ผู้ประกันทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
ผู้ประกันทั้งสองฎีกาขอให้ปรับเพียง 2,000 บาท หรือลดค่าปรับให้น้อยลง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นกรณีที่ผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันต่อศาลเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำวินิจฉัยอย่างใดแล้ว คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2532มาตรา 4 ผู้ประกันทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาเกี่ยวกับคำสั่งบังคับตามสัญญาประกันได้อีก การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกันทั้งสอง

Share