คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2474/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างตอกเสาเข็มจากจำเลยที่ 1แม้จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ก่อสร้างอาคารได้แต่การตอกเสาเข็มก่อให้เกิดความเสียหายแก้บ้านโจทก์จะแก้ตัวให้พ้นผิดไม่ได้ การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2ตอกเสาเข็มเพื่อสร้างอาคารสูง 30 ชั้น โดยจำเลยที่ 1เลือกจำเลยที่ 2 ให้ลงเสาเข็มโดยวิธีใช้ปั้นจั่นยกแท่งเหล็กตอกทั้ง ๆ ที่ตระหนักดีว่าจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือน อย่างแรงอันเป็นเหตุให้บ้านโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ส่วนจำเลยที่ 2เป็นผู้ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามมาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านตึก 2 ชั้นบนที่ดินโฉนดเลขที่ 107723, 107724 เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน2532 ถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของงานก่อสร้างโครงการชำนาญเพ็ญชาติบิชเนสเซ็นเตอร์ ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ทำการตอกเสาเข็มคอนกรีต จำนวน1,361 ต้นลงในบริเวณที่ดินที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ใกล้กับที่ดินและบ้านของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 มิได้คำนึงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในวิชาชีพแห่งตนในอันที่จะตอกเสาเข็มเพื่อเป็นฐานรากของอาคารขนาดใหญ่สูง 30 ชั้น ให้สำเร็จโดยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และในการตอกเสาเข็มดังกล่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำโดยไม่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในวิชาชีพโดยใช้ปั้นจั่นขนาดใหญ่และเครื่องยนต์ในการทำงานไปแล้ว 800 ต้น และกำลังกระทำต่อไปอีกประมาณ 500 ต้น ทั้งนี้มิได้ใช้ความระมัดระวังหาวิธีป้องกันใด เพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและโจทก์เป็นเหตุให้ที่ดิน บ้าน และทรัพย์สินภายในบ้านของโจทก์เสียหายรวมค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 5,000,000 บาท จำเลยที่ 2และที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ และในการเลือกหาผู้รับจ้างจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามหยุดการตอกเสาเข็มส่วนที่เหลือประมาณ500 ต้น จนกว่าจะได้หาวิธีการเพื่อป้องกันการเสียหายที่จะพึงเกิดขึ้นจากการตอกเสาเข็ม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า การก่อสร้างอาคารโครงการชำนาญเพ็ญชาติบิชเนสเซ็นเตอร์ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ทำการก่อสร้างได้ โดยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 2 ลงเสาเข็มโดยวิธีตอก แต่เพื่อความปลอดภัยและโดยใช้ความระมัดระวังเช่นวิญญูชน จำเลยที่ 1 จึงยอมเสียค่าใช้จ่ายในการลงเสาเข็มมากขึ้นจากเดิมที่ได้รับอนุญาตจากทางราชการโดยให้จำเลยที่ 2 ทำการลงเสาเข็มโดยวิธีขุดเจาะก่อนแล้วจึงตอกเสาเข็มอีกทั้งตอกแผ่นเหล็กขนาดยาว 14 เมตรเพื่อเป็นกำแพงกันดินตลอดแนวที่ติดกับบ้านโจทก์และบ้านใกล้เคียงกับขุดบ่อน้ำบริเวณที่ตอกเสาเข็มเพื่อลดความสั่นสะเทือนมีการปรึกษาวิศวกรที่มีความชำนาญตลอดเวลาทำการเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บ้านโจทก์และบ้านใกล้เคียง ความเสียหายที่เกิดแก่บ้านโจทก์เป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่เคยรับจ้างจำเลยที่ 1ทำการตอกเสาเข็ม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 687,652 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านเลขที่ 302/217 ซึ่งเป็นตึกสองชั้นในหมู่บ้านทวีมิตร จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของงานก่อสร้างอาคารตามโครงการชำนาญเพ็ญชาติบิชเนสเซ็นเตอร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ตอกเสาเข็มขนาด 52 x 52 เซนติเมตร ยาว 27.5 เมตร จำนวน1,361 ต้นในงานก่อสร้างอาคารดังกล่าวตามสัญญาจ้างท้ายเอกสารหมาย จ.27 จำเลยที่ 2 ได้ลงมือตอกเสาเข็มในช่วงแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2532 ในระหว่างนั้นเองบ้านโจทก์และบ่อเลี้ยงปลาของโจทก์ได้รับความเสียหาย ปลาคราฟท์จำนวนหนึ่งในบ่อเลี้ยงตาย
ปัญหาวินิจฉัยข้อต่อมาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ตอกเสาเข็มขนาดใหญ่โดยใช้ปั้นจั่นกระแทกถึง 5 ตัว ไม่ได้ตอกเหล็กเข็มพืดเพื่อป้องกันดินเลื่อนไหล และไม่ใช้วิธีเจาะซึ่งมีความสั่นสะเทือนน้อยกว่า ทั้งไม่ขุดบ่อน้ำระหว่างแนวสถานที่ก่อสร้างกับบ้านโจทก์เพื่อลดการสั่นสะเทือน ถือว่าจำเลยที่ 2กระทำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้บ้านโจทก์ได้รับความเสียหายรวมทั้งบ่อเลี้ยงปลาแตกร้าวและปลาคราฟท์ตาย จำเลยที่ 1ผู้ว่าจ้างควรทราบว่าการก่อสร้างตึกสูง 30 ชั้น ต้องตอกเสาเข็มขนาดใหญ่และยาวเป็นจำนวนมากถึงหนึ่งพันกว่าต้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนของผู้อื่นซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ถ้าว่าจ้างผู้รับจ้างที่ขาดความระมัดระวังและประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะท้วงติงการใช้ปั้นจั่นตอกกระแทกและให้ลงเสาเข็มโดยวิธีเจาะ จำเลยที่ 1 หาได้เลือกผู้รับจ้างที่มีความรู้ความสามารถในการตอกเสาเข็มในการก่อสร้างเช่นว่านี้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ที่เกิดขึ้นจากการตอกเสาเข็มดังกล่าว จำเลยที่ 1ฎีกาว่า การก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 ได้ทำการตอกเสาเข็มในบริเวณที่ห่างไกลจากบ้านโจทก์ จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ฎีกาของจำเลยที่ 1 มิได้คัดค้านว่าบ้านโจทก์ที่ได้รับความเสียหายเกิดจากสาเหตุอะไร และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ถูกต้องอย่างไรและที่ถูกต้องเป็นอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่มีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 เพียงเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 และทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับอนุญาตจากทางราชการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จำเลยที่ 1มีเครื่องวัดความสั่นสะเทือนคอยตรวจดูว่าจะมีความสั่นสะเทือนถึงจุดอันตรายหรือไม่ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างตอกเสาเข็มจากจำเลยที่ 1 โดยตรงไม่สนใจในความเสียหายของอาคารบ้านเรือนของโจทก์และผู้อื่นซึ่งอยู่ในรัศมีแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผลกระทบ แม้จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ก่อสร้างอาคารได้ แต่การตอกเสาเข็มของจำเลยที่ 2ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านโจทก์จะแก้ตัวให้พ้นผิดไม่ได้ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ตอกเสาเข็มโดยวิธีใช้ปั้นจั่นยกแท่งเหล็กตอกเพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีเจาะ ทั้ง ๆ ที่ตระหนักดีว่าการตอกเสาเข็มจะทำให้ที่ดินข้างเคียงถูกกระทบกระเทือนอย่างแรง อันเป็นเหตุให้บ้านโจทก์และผู้อื่นในบริเวณใกล้เคียงเสียหาย จำเลยที่ 1ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ส่วนจำเลยที่ 2เป็นผู้ประมาทเลินเล่อทำโดยผิดกฎหมายให้บ้านโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามมาตรา 420”
พิพากษายืน

Share