แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ต้องเสียภาษีลงในเรือหรือออกจากเรือในทะเล ซึ่งอาจเป็นทางแก่การฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน หรือเป็นการหลีกเลี่ยง ข้อจำกัด หรือข้อห้าม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 31 เพียงแต่ระบุในคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวเท่านั้น เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวไม่ได้
มาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดการกระทำความผิดคดีนี้บัญญัติว่า เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตัน
หากใช้ในการย้ายถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัด หรือต้องห้าม ท่านว่าให้ริบเสียสิ้น
แสดงว่า พ.ร.บ.ศุลกากรได้บัญญัติถึงการริบเรือที่นำมาใช้ในการกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าวไว้เป็นพิเศษโดยชัดแจ้งว่า เฉพาะเรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกิน 250 ตันเท่านั้น ที่จะพึงริบได้ ดังนั้น การริบเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน 250 ตัน จึงไม่อาจกระทำได้ ซึ่งจะเห็นเจตนารมณ์ของบทกฎหมายดังกล่าวได้จากมาตรา 32 วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตัน ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามสมควรแก่การกระทำความผิด
มาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 บัญญัติว่า เมื่อใดบทบัญญัติพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายหรือพระราชบัญญัติอื่น ให้ยกเอาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) มาใช้บังคับแก่คดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๑, ๑๐๒ ตรี พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามแก่ผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๘, ๙ ป.อ. มาตรา ๓๓, ๘๓ ริบเรือบรรทุกน้ำมันและน้ำมันดีเซลของกลาง กับจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ และจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๑ ป.อ. มาตรา ๘๓ ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของเป็นเงิน ๖๓,๖๗๒,๒๒๔ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙, ๓๐ โดยให้กักขังมีกำหนด ๒ ปี ตาม ป.อ. มาตรา ๓๐ วรรคแรก ริบเรือบรรทุกน้ำมันและน้ำมันดีเซลของกลาง ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาน้ำมันดีเซลของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยรองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๙ ซึ่งตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยกับพวกได้พร้อมยึดเรือบรรทุกน้ำมันดีเซลจำนวน ๒,๑๙๐,๐๐๐ ลิตร ราคา ๙,๙๑๖,๓๓๘ บาท ซึ่งเป็นของผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องคิดเป็นค่าภาษีอากร ๖,๐๐๑,๗๑๘ บาท ราคาน้ำมันกับค่าอากรขาเข้ารวมเป็นเงิน ๑๕,๙๑๘,๐๕๖ บาท เป็นของกลาง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า
สำหรับความผิดฐานนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ต้องเสียภาษีลงในเรือหรือออกจากเรือในทะเลตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๑ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมาโดยมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ก็ได้วินิจฉัยลงโทษจำเลยมาด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำหรือยอมให้ผู้อื่นนำของที่ต้องเสียภาษีลงในเรือหรือออกจากเรือในทะเล ซึ่งอาจเป็นทางแก่การฉ้อประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน หรือเป็นการหลีกเลี่ยง ข้อจำกัด หรือข้อห้าม ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๑ เพียงแต่ระบุในคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวเท่านั้น จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา ๑๕๘ (๕) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
มีปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้ริบเรือของกลางนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในปัญหานี้ มาตรา ๓๒ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ซึ่งใช้บังคับขณะเกิดการกระทำความผิดคดีนี้บัญญัติไว้ว่า “เรือชนิดใด ๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตัน
หากใช้ในการย้ายถอน ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิยังมิได้เสียค่าภาษีหรือที่ต้องจำกัด หรือต้องห้าม ท่านว่าให้ริบเสียสิ้น
” แสดงว่า พ.ร.บ.ศุลกากรได้บัญญัติถึงการริบเรือที่นำมาใช้กระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าวไว้เป็นพิเศษโดยชัดแจ้งว่า เฉพาะเรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกิน ๒๕๐ ตัน เท่านั้น ที่จะพึงริบได้ ดังนั้น การริบเรือที่มีระวางบรรทุกเกิน ๒๕๐ ตัน จึงไม่อาจกระทำได้และในมาตรา ๑๒๐ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ บัญญัติไว้ว่า เมื่อใดบทบัญญัติพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายหรือพระราชบัญญัติอื่น ให้ยกเอาบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินตาม ป.อ. มาตรา ๓๓ (๑) มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ ข้อจำกัดดังกล่าวเห็นได้จากความใน พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔ ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา ๓๒ แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ให้ใช้ข้อความใหม่แทน แล้วเพิ่มเติมบทบัญญัติ มาตรา ๓๒ วรรคสอง ความว่า ถ้าเรือที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำตามวรรคหนึ่งมีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตัน ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบเรือนั้นได้ตามสมควรแก่การกระทำความผิด โดยมีหมายเหตุแสดงเหตุผลที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เพื่อเพิ่มอำนาจของศาลในการริบเรือที่มีขนาดเกินสองร้อยห้าสิบตันและของที่มิได้เป็นของผู้กระทำความผิดในบางกรณี แสดงให้เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๒ เดิม ศาลไม่มีอำนาจริบเรือที่มีขนาดเกินสองร้อยห้าสิบตัน และแสดงเจตนารมณ์ของบทกฎหมายที่เพิ่มเติมว่า เพื่อให้ศาลมีอำนาจริบเรือที่มีระวางบรรทุกเกินสองร้อยห้าสิบตันซึ่งนำมาใช้กระทำความผิดตามความเหมาะสมแก่โทษานุโทษที่ผู้กระทำความผิดควรได้รับเท่านั้น เพราะหากมีการนำเรือขนาดใหญ่มากระทำผิดขนของที่มิได้เสียค่าภาษีเพียงเล็กน้อย แล้วศาลริบเรือนั้นย่อมเป็นการลงโทษที่เกินความเหมาะสมแก่โทษานุโทษที่ผู้กระทำควรได้รับ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้โดยนำเรือขนาดระวางบรรทุก ๑,๘๐๐ ตัน มาใช้กระทำความผิดก่อนบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ศุลกากรที่เพิ่มเติมดังกล่าวใช้บังคับ ศาลจึงไม่มีอำนาจใช้บทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา ๓๓ (๑) ริบเรือของกลางคดีนี้ได้ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองที่ริบเรือของกลางไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ หนึ่งในสี่ คงปรับเป็นเงิน ๔๗,๗๕๔,๑๖๘ บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๓๑ และยกคำขอที่ให้ริบเรือบรรทุกน้ำมันของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.