แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 ของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 การที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากที่ดินนั้นภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความตามมาตรา 50 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่ต้องพิสูจน์เสียก่อนว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 53 ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้
ตามคำร้องผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 6 คือที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7711 เลขที่ดิน 208 (เดิมเป็นที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 310) ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาพิพากษายืน
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องว่า ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเป็นผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 เลขที่ดิน 208 จากผู้คัดค้านที่ 6 แต่ผู้คัดค้านที่ 6 ไม่ชำระหนี้ ผู้ขอคุ้มครองสิทธิจึงฟ้องบังคับจำนอง ศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิพากษาให้ผู้คัดค้านที่ 6 ชำระหนี้ตามฟ้อง ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเป็นผู้รับประโยชน์และเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าว ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเป็นบุคคลภายนอกรับจำนองที่ดินไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านที่ 6 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาอย่างไร ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเพิ่งทราบในภายหลังว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินทำให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่มีโอกาสยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองต่อศาลชั้นต้นได้ ขอให้มีคำสั่งนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จำนองแก่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิ
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้นำโฉนดที่ดินเลขที่ 7711 เลขที่ดิน 208 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองแล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินรายการนี้ชำระให้แก่นายสมภาส ผู้ขอคุ้มครองสิทธิ เป็นเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2558 จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์สินเสร็จ คำขออื่นให้ยก
ผู้ขอคุ้มครองสิทธิอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวชำระหนี้แก่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเพิ่มเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2549 จากต้นเงิน 260,000 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2550 และจากต้นเงิน 440,000 บาท นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไปจนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์สินเสร็จ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดหรืออายัด ที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 310 ของผู้คัดค้านที่ 6 ไว้ชั่วคราว วันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ผู้คัดค้านที่ 6 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 เลขที่ดิน 208 ไว้แก่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเพื่อประกันหนี้เงินกู้ จำนวน 300,000 บาท วันที่ 10 มิถุนายน 2549 ผู้คัดค้านที่ 6 ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งยึดและ/หรืออายัดทรัพย์สินจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อให้ใช้สิทธิตามมาตรา 48 วรรคสี่ ของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ผู้คัดค้านที่ 6 จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองแก่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเพื่อเป็นประกันหนี้กู้ยืมอีกรวม 3 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 จำนวน 300,000 บาท วันที่ 6 มิถุนายน 2550 จำนวน 260,000 บาท และวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 จำนวน 440,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,300,000 บาท วันที่ 22 สิงหาคม 2549 ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดที่ดินดังกล่าวไว้ชั่วคราว ต่อมาศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน ศาลฎีกาพิพากษายืน ก่อนผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินไม่เคยทราบมาก่อนว่าที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 310 เป็นที่ดินตามโฉนดที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิขอบังคับจำนองและไม่เคยแจ้งคำสั่งหรืออายัดที่ดินแปลงดังกล่าวให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิทราบ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกว่า ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ เห็นว่า ขณะผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องฉบับนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 7711 ของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 51 การที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิยื่นคำร้องภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ศาลจึงต้องไต่สวนให้ได้ความตามมาตรา 50 วรรคสอง โดยมาตรา 50 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีหน้าที่ต้องแสดงให้ศาลเห็นเสียก่อนว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ศาลจึงจะมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้นผู้ขอคุ้มครองสิทธิจึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าวโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์จึงไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยกขึ้นกล่าวในชั้นฎีกาได้ เมื่อผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้แล้ว ผู้ขอคุ้มครองสิทธิย่อมมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้ว่าตนจดทะเบียนรับจำนองและขึ้นเงินจำนองที่ดินพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน แต่ตามทางนำสืบของผู้ขอคุ้มครองสิทธิ ผู้ขอคุ้มครองสิทธิมีเพียงตัวผู้ขอคุ้มครองสิทธิเบิกความเป็นพยานประกอบเอกสาร โดยผู้ขอคุ้มครองสิทธิอ้างว่าในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งตนเองถอนเงินฝากจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บางส่วนเป็นเงินสด และนำไปมอบให้ผู้คัดค้านที่ 6 ที่สำนักงานที่ดิน แต่พิจารณารายการเดินบัญชีเงินฝากของผู้ขอคุ้มครองสิทธิ บัญชีเลขที่ 117 – 1 – 05xxx – x และบัญชีเลขที่ 116 – 1 – 26xxx – x พบว่าผู้ขอคุ้มครองสิทธิจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 แต่มีรายการถอนเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากบัญชีเลขที่ 116 – 1 – 26xxx – x ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นเวลาก่อนมีการจดทะเบียนจำนองเป็นเวลานาน ทั้งจำนวนเงินที่เบิกถอนเกินกว่าจำนวนเงินที่รับจำนองที่ดินมาก ส่วนการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 จำนวน 300,000 บาท มีการถอนเงินในวันที่ 10 กรกฎาคม 2549 จากบัญชีเลขที่ 117 – 1 – 05xxx – x รวม 2 รายการ จำนวน 30,000 บาท และ 20,000 บาท และจากบัญชีเลขที่ 116 – 1 – 26xxx – x ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2549 จำนวน 30,000 บาท และวันที่ 31 กรกฎาคม 2549 จำนวน 35,000 บาท รวมเป็นเงิน 115,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าจำนวนเงินที่จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 1 เช่นเดียวกันกับการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2550 จำนวน 260,000 บาท ซึ่งมีการถอนเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2550 และวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ครั้งละ 100,000 บาท รวม 200,000 บาท ส่วนการถอนเงินในวันที่ 7 มิถุนายน 2550 จำนวน 28,000 บาท เป็นการถอนเงินหลังจากจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 2 แล้ว สำหรับการจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2551 ไม่พบว่ามีรายการถอนเงินแต่อย่างใด เมื่อผู้ขอคุ้มครองสิทธิเบิกความว่ามีอาชีพเป็นข้าราชการครูและค้าขายเบ็ดเตล็ดทั่วไป โดยไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงที่มาของรายได้หรือสาเหตุที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิต้องมีเงินสดเก็บไว้กับตัวเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่นำเจ้าพนักงานที่ดินมาเบิกความยืนยันหรือมีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงว่ามีการส่งมอบเงินกันจริง พยานหลักฐานที่ผู้ขอคุ้มครองสิทธินำสืบมาจึงเป็นการกล่าวอ้างเพียงลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า ผู้ขอคุ้มครองสิทธิรับจำนองที่ดินดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้เรียกเก็บค่าขึ้นศาลผู้ขอคุ้มครองสิทธิและในชั้นอุทธรณ์ผู้ขอคุ้มครองสิทธิเสียค่าขึ้นศาลมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่ตามคำร้องผู้ขอคุ้มครองสิทธิไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด โดยเพียงแต่ขอให้ได้รับชำระหนี้จำนองจากทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเห็นควรเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจากผู้ขอคุ้มครองสิทธิโดยให้หักจากค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมา นอกจากนี้คดีนี้เป็นคดีแพ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบ เพราะเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้ไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไปก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง จึงเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง
พิพากษากลับเป็นให้ยกคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 5,600 บาท ให้แก่ผู้ขอคุ้มครองสิทธิ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ