คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 287/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของลูกจ้างเป็นไปในลักษณะหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา ถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามระเบียบอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น. เท่ากับเป็นการวินิจฉัยว่า การกระทำของลูกจ้างเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าลูกจ้างกระทำผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทไม่ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ และแม้คดีก่อนลูกจ้างถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาทก็ตาม แต่เมื่อคดีนี้นายจ้างร้องต่อศาลเพื่อขอเลิกจ้างอันเป็นคดีแพ่ง จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้ขณะลูกจ้างกระทำผิดวินัยจะอยู่ในระหว่างที่ได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯก็ตาม แต่เมื่อลูกจ้างมิใช่ผู้ที่ได้ถูกลงโทษทางวินัยหรือผู้กระทำผิดวินัยที่ได้รับนิรโทษกรรมมาก่อน จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นายประทิน ลูกจ้างของผู้ร้อง ได้กระทำความผิดโดยหมิ่นประมาทนายธวัชผู้ว่าการรถไฟและนายประชุมวิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างโยธาซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูง เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามระเบียบการฯมีโทษไล่ออกเนื่องจากนายประทินเป็นกรรมการลูกจ้าง จึงขออนุญาตเลิกจ้างนายประทิน

ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านไม่ได้กระทำความผิดตามคำร้องอย่างไรก็ตามผู้ว่าการรถไฟได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านไว้ที่ศาลแขวงพระนครเหนือคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา จึงเป็นฟ้องซ้ำ แม้จะฟังว่าผู้คัดค้านกระทำผิดจริงแต่ภายหลังได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ บัญญัติให้ถือว่าลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจซึ่งกระทำผิดวินัยตามระเบียบของรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2526 ไม่เคยถูกลงทัณฑ์ทางวินัยมาก่อนเลย ผู้คัดค้านจึงไม่ต้องรับโทษ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านได้กระทำผิดฐานหมิ่นประมาทนายธวัชและนายประชุม เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง กรณีไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ และคดีไม่เป็นฟ้องซ้ำมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายประทิน กรรมการลูกจ้างได้

ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คำพิพากษาศาลแรงงานกลางมิใช่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งจะต้องถูกลงโทษในทางอาญา หากแต่เป็นการวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้คัดค้านเป็นไปในลักษณะหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชาชั้นสูง อันถือได้ว่าเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามระเบียบการฯ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เท่ากับเป็นการวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้อง หรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 8(1)

พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พ.ศ. 2526 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ถูกลงโทษทางวินัยในกรณีซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 6 เมษายน 2525 และได้ถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ รวมทั้งบรรดาผู้กระทำผิดวินัยที่ได้รับนิรโทษกรรมก่อนหรือในวันที่ 6 เมษายน 2525 แล้ว ไม่ว่าจะได้มีการสอบสวนทางวินัยแล้วหรือไม่ก็ตาม โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยหรือมิได้กระทำผิดทางวินัยแล้วแต่กรณี” ผู้คัดค้านมิใช่ผู้ที่ได้ถูกลงโทษทางวินัยหรือผู้กระทำผิดวินัยที่ได้รับนิรโทษกรรมมาก่อน จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว

คดีก่อนผู้คัดค้านถูกฟ้องเป็นคดีอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท แต่คดีนี้ผู้ร้องได้ร้องขอต่อศาลเพื่อเลิกจ้างผู้คัดค้านอันเป็นคดีแพ่ง จึงไม่เป็นการฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

พิพากษายืน

Share